ปชป.-เพื่อไทย มองงบปี 63 ไม่ตอบโจทย์ความต้องการประชาชนได้แท้จริง หวังการทำงบปี 64 จะแก้ปัญหาตรงจุดมากขึ้น

ข่าวการเมือง Wednesday January 8, 2020 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในมาตรา 4 ว่า งบประมาณปี 2563 อาจไม่สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของรัฐบาล และถูกมองว่างบประมาณปี 63 มีความเป็นงบราชการค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่ตนต้องการเห็น คือ การจัดทำงบประมาณที่สะท้อนกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย 1.เรื่องเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ปัญหาที่สำคัญสุดคือ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยหนึ่งในสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่า เพราะเอกชนเลิกลงทุน ทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง และแม้การส่งออกลดลง ยิ่งทำให้บัญชีดุลสะพัดแข็งค่าขึ้น ซึ่งปัจจัยที่จะมาชดเชยตรงส่วนนี้ได้คือ การลงทุนจากภาครัฐ แต่ในงบลงทุนในปี 63 กลับลดลง

2.โครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินทั้งบัตรเครดิต หรือหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้นอกระบบ และพฤติกรรมการใช้เงินของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ที่เน้นใช้จ่ายผ่านร้านค้าปลีก 7-11 หรือใช้จ่ายผ่านทางระบบอีคอมเมิร์ช ซึ่งนำมาสู่การกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ SME ไม่สามารถแข่งขันได้จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่ลงทุน ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาด้วยงบประมาณ ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีให้เป็นธรรม เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบการรายใหม่ที่ใช้นวัตกรรม

นายกรณ์ ระบุว่า จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร

"เรามีความจำเป็นต้องจัดงบประมาณที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า เงินภาษีของเขาได้ถูกนำไปใช้มีผลต่อชีวิตและลูกหลานเขา และไม่นำไปใช้เพื่อตอบสนองหน่วยงานของรัฐบาลเท่านั้น" นายกรณ์ กล่าว

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติตัดลดงบประมาณรายจ่าย มาตรา 4 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ลง 10% เป็นยอดเงิน 3.2 แสนล้านบาท เพื่อแปรญัตติเป็นงบประมาณในการปรับโครงสร้างพื้นฐานของคนในชนบท เพราะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปีนี้ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในชนบท การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เป็นการจัดทำโดยข้าราชการประจำเป็นส่วนใหญ่ ฝ่ายการเมืองที่มาจากเลือกตั้งไม่มีโอกาสเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นและกำหนดการจัดงบประมาณในโครงการที่แก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดได้เลย

นายเทพไท กล่าวว่า การเสนอตัดงบประมาณรายจ่ายลง 10% เพื่อนำไปปรับปรุงถนนลูกรังในชนบททั่วประเทศ ที่มีระยะทางประมาณ 1 แสนกม.เศษให้เป็นถนนลาดยางพารา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชนบท โดยอาจจะใช้งบประมาณในวงเงินที่สูงกว่าการก่อสร้างตามปกติ แต่ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนของรัฐบาล เพราะเป็นการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ ช่วยทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น คนในชนบทได้ใช้ถนนปลอดฝุ่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งดีกว่าการคิดทำโครงการหมอนยางพาราประชารัฐ จำนวน 30 ล้านใบ เพื่อแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนได้นอนกอดแก้จน

นายเทพไท กล่าวว่า อยากตั้งข้อสังเกตให้รัฐบาลชุดนี้ว่าถ้ายังมีโอกาสเป็นรัฐบาลในปีต่อไป ให้รับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขสำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 และรวบรวมข้อหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นปัญหาความเดือดของประชาชนทั้งหมด มาจัดทำเป็นงบประมาณรายจ่ายในปี 2564 จะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนมากที่สุด

ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในมาตรา 4 ว่า งบประมาณที่ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาท บนสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP อยู่ที่ 3-4 % แต่จากการประเมินจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า GDP ปี 62 อยู่ที่ 2.6% ซึ่งจากสถานการณ์ในขณะนี้เม็ดเงินที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ในปี 63 อยู่ที่ 2.731 ล้านล้านบาท วงเงินชดเชยกู้เงิน 4.69 แสนล้านบาท จึงจำเป็นต้องปรับลดโดยไม่จำเป็นต้องกู้

ทั้งนี้ จากการที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ จะส่งผลให้ภาษีที่เก็บจากการนำเข้าและส่งออกลดลง ทำให้รายได้ประเทศลดลง และงบลงทุนที่กำหนดไว้ 6.4 แสนล้านบาท หรือ 20% ของงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งบประมาณได้ช่วงต้นเดือนมี.ค.63 มีเวลาดำเนินการเพียง 6 เดือน และความสามารถก่อหนี้ผูกพันในการบริหารงบประมาณของหน่วยราชการยังต่ำมาก ซึ่งหลายหน่วยงานก็ถูกปรับลดงบประมาณ จึงอยากให้มีการปรับลดงบลงทุนให้ลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 3.2 แสนล้านบาท

นพ.ชลน่าน มองว่า งบประมาณ 63 ไม่ตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชน เป็นการจัดทำงบประมาณตามวงรอบปกติ หรือแม้แต่นโยบายรัฐบาลก็แทบไม่มีการจัดทำงบประมาณ เพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ