อนาคตใหม่ ชำแหล่ะงบปี 63 ค้ำยันอำนาจ-ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ-การใช้จ่ายไร้ประสิทธิภาพ,เงินนอกงบปูดกว่า 8.5 ล้านลบ.

ข่าวการเมือง Monday January 13, 2020 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในการเสวนา"อนาคตงบประมาณไทย อนาคตใหม่ประชาชน" ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนและสะท้อนความคิดเห็นในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยว่า ประเทศไทยกำลังประสบ 5 ปัญหาใหญ่ คือ 1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ด้วยการลงทุนขนาดเล็กแทนเมกะโปรเจ็คต์ 2.สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ในปี 62 ระดับการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 65% 3.การใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ โดยมีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้แค่ 58% 4.ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ และ 5.ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง

พร้อมมองว่า งบลงทุน 6.6 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นงบลงทุนที่แท้จริงเพียง 2.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 42% เท่านั้น แต่การจัดทำงบประมาณปี 63 ทำเพื่อค้ำยันอำนาจและสร้างความจงรักภักดี ซึ่งหากเป็นแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่จะคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนทั่วประเทศ การจัดสวัสดิการให้กับทุกคนอย่างเสมอภาค และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะโครงการต่างๆ เกิดจากแนวคิดจากส่วนกลาง การพิจารณาตัดงบประมาณที่ไม่มีประโยชน์ด้วยหลักการ Zero-based Budgeting

ขณะที่เห็นว่าการลงทุนโครงการรถไฟรางเบา และลงทุนก่อสร้างโครงการในภูมิภาค 102,000 ล้านบาท เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการสร้างงาน ลดมลพิษ จะดีกว่าโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน 1.68 แสนล้านบาท ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนมากกว่า สำหรับการจัดสวัสดิการนั้น รัฐบาลสามารถนำรายได้นอกงบประมาณที่มีเงินจำนวนมหาศาลมาใช้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการจัดสวัสดิการแบบอนาถาเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

ด้านน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณปี 63 มีความแตกต่างไปจากก่อนหน้านี้คือ 1.มีความล่าช้ากว่ากำหนดถึง 4 เดือน เนื่องจากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ 2.มีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญที่เสนอตัดงบได้แต่เพิ่มไม่ได้ และ 3.มีข้อจำกัดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดกรอบรายจ่ายลงทุนและการก่อหนี้ผูกพัน ขณะที่ ส.ส.ได้รับมอบเอกสารงบประมาณจำนวนมากก่อนถึงวันพิจารณาในระยะเวลาอันสั้นไม่ถึง 2 วัน

ในการพิจารณาตัดงบของกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่โครงการ ซึ่งเป็นผลเสีย ทำให้ไม่สามารถลงไปในรายละเอียดของโครงการได้ ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น เป็นการตัดงบของหน่วยงานในส่วนที่เป็นโครงการที่ดี

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ในส่วนของเงินนอกงบประมาณนั้น มีเป็นจำนวนมากถึง 4.514 ล้านล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาลึกลงไป จะมีเงินนอกงบประมาณมากถึง 8.5 ล้านล้านบาทที่ไม่ได้แสดงไว้ เช่น เงินรายได้จากค่ารักษาพยาบาล, ค่า MUX เป็นต้น

นอกจากนี้ยัง มีการเพิ่มสัดส่วนของบกลางฯ ซึ่งที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายไม่ถึง 60% ทั้งที่มีเวลาใช้เหลือน้อย แต่ไม่สามารถขอตัดได้เลย เพราะหากมีเหตุฉุกเฉินจริง ก็สามารถเบิกจ่ายจากเงินคงคลังบัญชี 2 หรือเงินทุนสำรองจ่ายจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเกิดทั้งปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ปัญหาภัยธรรมชาติ แต่กลับไม่มีการนำงบกลางฯ มาใช้แก้ปัญหาเหล่านี้

"งบกลางฯ ถูกนำไปเติมให้หน่วยงานที่ถูกสภาฯ ปรับลดโครงการประชานิยม เท่ากับว่าการพิจารณาของสภาเป็นแค่ปาหี่ ทำอะไรไม่ได้เลย" นายวิโรจน์ กล่าว

ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบประจำนั้น ไม่มีปัญหาสามารถเบิกจ่ายได้ดี ขณะที่ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนสามารถทำได้ 70.67% อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงกลาโหม สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียง 57% (กองทัพบก 41.9% กองทัพเรือ 73.63% กองทัพอากาศ 58.24%) และมีสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันที่เบียดบังกระทรวงอื่น เพราะกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลมีสัดส่วนของงบผูกพันได้ไม่เกิน 10% แต่เฉพาะกระทรวงกลาโหม มีงบผูกพันมากถึง 63,720 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% ของงบกระทรวงฯ และความสามารถในการเบิกจ่ายต่ำ เพราะจัดซื้อไม่เป็น สร้างภาระให้กับรัฐบาลเพราะต้องไปกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล

"ถ้าย้อนไปดูการเบิกจ่ายงบลงทุนของกระทรวงกลาโหมในปี 62 ยังมีเหลือกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่ารัฐบาลต้องเสียดอกเบี้ยไปเปล่าๆ ปีละ 300 กว่าล้านบาท"นายพิจารณ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 63 ของรัฐบาลเลยจุดเสี่ยงไปเป็นจุดเสียวแล้ว เพราะมีการใช้งบประมาณซ้ำซ้อน ส่งผลให้สัดส่วนรายจ่ายลงทุน 20.5% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเป็นงบลงทุนเพียง 15.3% แต่ส่วนที่เหลือไม่มีการชี้แจงรายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะเป็นเงินลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศจริงๆ เพียง 8% เท่านั้น

"การจัดงบประมาณแบบนี้ เหมือนกับประเทศไม่อยากพัฒนา แต่อยากอยู่ไปนานๆ แค่นั้น ซึ่งหากพรรคอนาคตใหม่เข้าไปบริหารประเทศ จะมีการปรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ" นายสุรเชษฐ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลจะต้องลงทุนเพื่อทุกคน เช่น กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง, สร้างงาน, แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เอื้อทุนใหญ่. การลงทุนคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งตนยอมรับกติกาในการทำงาน เพราะไม่ว่าจะอภิปรายดีอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการโหวตลงมติที่ไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลได้ แต่หวังว่าเมื่อประชาชนได้รับรู้การทำงานของพวกเราแล้ว จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งต่อไปให้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดสรรงบอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของรัฐบาลนั้น เป็นเพียงข้อกำหนดทางกฎหมาย เพราะ อปท.มีอิสระในการใช้จ่ายงบประมาณได้ไม่เกิน 20% เท่านั้น ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น เกิดความเป็นธรรม และเสมอภาค

ขณะที่นายรอมฎอน ปันจอร์ ตัวแทนศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ในฐานะ อนุ กมธ.งบประมาณฯ กล่าวว่า การจัดสรรงบปี 63 เพื่อแก้ปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นไปแบบคุณพ่อรู้ดีและใจร้าย ซึ่งเป็นครั้งแรกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่มีการตั้งอนุ กมธ.ขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ สำหรับพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นเหมือนพื้นที่ทดลองมาตรการด้านความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งตามแผนแม่บทด้านความมั่นคงที่กำหนดไว้เหมือนในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จะเป็นการยกระดับปัญหาขึ้นสู่ระดับสากล เพราะจากการพิจารณาเอกสารแล้ว พบว่ากำลังมีการต่อสู้ของหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น การสลายแนวคิดของหัวรุนแรง การมุ่งไล่ล่าทำลายล้าง การล้างสมองของเด็กอายุ 1-5 ปี ซึ่งตนอยากเสนอให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ