นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ออกมาเปิดเผยว่ามีพรรคการเมืองกู้เงินในแบบเดียวกันนั้นว่า ไม่ใช่มีแค่พรรคอนาคตใหม่แค่พรรคเดียวที่มีการกู้เงิน แต่ยังมีพรรคอื่นๆที่กู้เงินด้วย กรณีการกู้เงินของพรรคการเมืองต่างๆ ในท้ายที่สุดเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับแต่อย่างใด เพราะการกู้เงินนั้นต้องอยู่ในงบการเงิน ซึ่งต้องเผยแพร่ในที่สาธารณะในทุกๆปีงบประมาณอยู่แล้ว เมื่องบการเงินเปิดออกมา ทุกท่านจะเห็นว่ามีการกู้เงินกันหลายพรรค และที่สำคัญการกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่นั้น มีความชัดเจนเพราะมีสัญญากู้เงินอย่างถูกต้อง มีการคิดดอกเบี้ย และมีการชำระคืนไปบางส่วนแล้ว ในขณะที่การกู้เงินของพรรคอื่นๆ นั้นระบุเพียงแค่ยอดเงินกู้เท่านั้น
"การกู้เงินของพรรคการเมืองกระทำได้โดยไม่มีกฎหมายห้าม แต่ผมไม่อยากแสดงความคิดเห็นว่าเมื่อพรรคอนาคตใหม่โดนแล้ว พรรคการเมืองอื่นต้องโดนไปด้วยหรือไม่ ผมไม่ขอก้าวล่วง ในเมื่อการดำเนินการกับพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกต้องก็ขอให้ยุติเรื่องนี้เสีย วันข้างหน้าถ้าไม่อยากให้พรรคการเมืองกู้เงินกันก็ต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจน" นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร ระบุว่า การที่กกต.เตรียมหาสาเหตุที่ทำให้เอกสารการสอบสวนคดียุบพรรคในชั้นคณะอนุกรรมการของกกต.หลุดออกมาพร้อมกับจะดำเนินการตามกฎหมายนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของจริง เพราะถ้าไม่ใช่ของจริง กกต.คงปฏิเสธไปนานแล้ว แทนที่กกต.จะชี้แจงให้สิ้นสงสัย แต่กกต.กลับปกป้องตัวเองและใช้กฎหมายมาข่มขู่ เพราะกกต.ควรแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุในเรื่องการทำงานของกกต.เองมากกว่า
นายปิยบุตร กล่าวว่า หลักกระบวนการพิจารณาที่ถูกต้องควรให้คู่ความโต้แย้งได้อย่างเต็มที่ การทำงานขององค์กรอิสระควรเดินตามนี้ กกต.เป็นองค์กรอิสระต้องประกันสิทธิให้คู่กรณีด้วย
"ในคดีถือหุ้นบริษัทวีลัคมีเดีย เราได้ต่อสู้ว่ากระบวนการพิจารณาของกกต.ไม่ชอบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น ครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าเมื่อคณะอนุกรรมการถึง 2 คณะยกคำร้องแล้ว ต้องติดตามดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับรองกระบวนการพิจารณาของกกต.หรือไม่ เมื่อเทียบกับคดีถือหุ้นบริษัทวีลัคมีเดีย" นายปิยบุตร กล่าว
นอกจากนี้ ส่วนตัวมีข้อสังเกต ประกอบด้วย กกต.อธิบายชัดเจนว่าเรื่องนี้แยกออกเป็น 2 ช่องทาง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560 มาตรา 66 ว่าด้วยการที่บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และ มาตรา 72 ว่าด้วยการห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และกกต.ได้เคยเรียกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และเหรัญญิกของพรรคไปเป็นพยานเพื่อให้ข้อมูลตามมาตรา 66 แต่กลับใช้คำให้การเรื่องนี้มายุบพรรคโดยอ้างมาตรา 72 ทั้งที่ไม่เคยเรียกให้ไปชี้แจงกรณีตามมาตรา72 แต่อย่างใด
"กรณีนี้มีการยกคำร้องถึง 2 ครั้งแล้ว พฤติกรรมแบบนี้เรามีสิทธิตั้งคำถามหรือไม่ว่าเมื่อกกต.ต้องการดำเนินการให้เป็นไปตามธงที่ตั้งไว้ตามมาตรา 66 แต่พอไม่ตรงธงจึงมาดำเนินการตาม 72 เช่น ถือว่าเป็นการตั้งธงหรือไม่"