นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาความวุ่นวายของกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรว่า ที่ผ่านมาได้เคยตักเตือนไปแล้ว โดยให้คำแนะนำไปว่าต้องไปดูแลกันเองให้ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ เพราะทั้งหมดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว แต่หากมีการร้องเรียนเข้ามาก็พร้อมเป็นตัวกลางให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน
"ภาพที่ออกมาไม่ใช่ภาพบวก และไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากที่เคยปรากฎตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมามีการร้องเรื่องการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่ขณะนี้กรรมาธิการยกร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการยังไม่แล้วเสร็จจึงไม่สามารถส่งเรื่องให้พิจารณาได้" นายชวน กล่าว
ส่วนการยื่นญัตติขอให้ถอดถอน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการฯ พ้นจากตำแหน่งนั้น นายชวน กล่าวว่า รับทราบจากข่าวแต่ยังไม่เห็นรายละเอียด ซึ่งตามหลักการสามารถทำได้ แต่ต้องดูเนื้อหาคำร้องว่าเข้าตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับว่าจะพ้นจากตำแหน่งไปได้อย่างไรบ้าง
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กล่าวว่า ไม่คาดหวัง ให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการปรับปรุงบทบาทตัวเอง เพราะเคยเตือน เคยบอกแล้วแต่ก็ไม่ฟัง ดังนั้น ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับ การประชุม
"ทำงานร่วมกันยากมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากพล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ใช้อำนาจบริหารงานตามอำเภอใจ หลายเรื่องไม่คำนึงถึงข้อบังคับ ซึ่งปัญหาเกิดจากแนวคิดของประธานโดยใช้กรรมาธิการและฐานะของประธานเป็นเครื่องมือที่จะดำเนินการทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือเตรียมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งกรรมาธิการสามัญของสภา ไม่เคยปฏิบัติ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ส่วนใหญ่จะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และพูดคุยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรรมาธิการและไม่ใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือเล่นงาน รัฐมนตรี หรือส.ส. พรรคอื่น หรือมุ่งโจมตีทางการเมือง"
หากที่ประชุมสภาฯ มีมติ ถอดถอน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากกรรมาธิการ วิปทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องคุยกันว่า โควต้าประธานกรรมาธิการจะต้องเป็นของฝ่ายใด ยังคงเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน และ พรรคเสรีรวมไทยหรือไม่