นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นว่า กรณีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียบบัตรแทนกันในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวาระ 2 จะส่งผลให้การพิจารณาร่างงบประมาณเป็นโฆฆะหรือไม่
นายวิษณุ ได้อธิบายว่ากรณีดังกล่าวจะต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือมีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ และผลจากกรณีดังกล่าวจะส่งผลต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ปี 63 อย่างไร
นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีเสียบบัตรแทนกันนั้นเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎ ส่วนจะมีผลต่อร่างกฎหมายฉบับนั้นอย่างไรจะต้องมีการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเสียบบัตรแทนกันใน 2 กรณี แต่ไม่อาจนำมาเป็นบรรทัดฐานในกรณีนี้ได้ เนื่องจากมีลักษณะและเงื่อนไขของกฎหมายที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ในส่วนของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ นั้นมีรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งหากไม่แล้วเสร็จตามกรอบก็ให้ถือว่าสภาฯ เห็นชอบตามร่างที่รัฐบาลเสนอ แต่หากยังมีข้อสงสัย หรือติดขัดประการใด ก็ต้องให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในลำดับต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยืนยันว่า การให้ความเห็นของตนเองไม่ได้เป็นการชี้นำ เพียงแต่ไม่อยากให้กังวลว่าจะทำให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ปี 63 ต้องโมฆะแต่อาจจะมีผลล่าช้า เพราะจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่ส่งผลกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วว่าให้ใช้งบประมาณของปี 62 ไปพลางก่อน รวมถึงจะไม่กระทบกับงบประจำ ที่ต้องจ่ายเป็นเงินเดือนให้ข้าราชการ เพราะทางสำนักงบประมาณฯ ได้เตรียมการไว้รองรับแล้ว
ขณะที่ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องรอผลการตรวจสอบของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้มอบหมาย และทราบมาว่าพรรคต้นสังกัดเองได้ตั้งกรรมการสอบสวนด้วย ส่วนจะมีผลทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นโมฆะหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ และศาลจะวินิจฉัยอย่างไร
สำหรับพฤติกรรม ส.ส.เสียบบัตรแทนกันนั้นมีมาก่อนหน้านี้แล้ว จนครั้งล่าสุดก็ส่งผลถึงขั้นทำให้กฎหมายสำคัญเป็นโมฆะมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทราบกัน ซึ่งได้กำชับให้มีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการจัดหาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ประกอบกับช่วงนี้การก่อสร้างห้องประชุมสุริยันยังไม่เสร็จ ทำให้สภาผู้แทนฯต้องมาใช้ห้องประชุมจันทราของวุฒิสภา ซึ่งมีจำนวนเครื่องเสียบบัตรลงคะแนนไม่เพียงพอต่อจำนวน ส.ส.ทำให้ ส.ส.จำนวนหนึ่งต้องมีการใช้เครื่องเสียบบัตรแสดงตนร่วมกันในการลงมติคราวเดียวกัน อาจทำให้เกิดความสับสนและเฝ้าระวังการออกเสียงแทนกันยาก
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการสภาฯ ได้ทำร่างแผนงบประมาณ เพื่อใช้ในการติดตั้งระบบออกเสียงลงคะแนน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีของระบบการลงมติที่ทันสมัยด้วยการแสดงตนหรือยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการเสียบบัตรแทนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับงบประมาณ และในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ได้มีการตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไป ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างที่เห็น และอาจส่งผลเสียหายทำให้งบประมาณฯ ปีนี้ที่ล่าช้าอยู่แล้ว ยิ่งล่าช้ามากขึ้นไปอีก กระทบต่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"ผมเห็นด้วยกับการตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น แต่ในส่วนของสภาฯที่เกี่ยวข้องกับด้านไอที ด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก ให้การทำงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบการลงมติ และความปลอดภัยของบุคคลสำคัญและความปลอดภัยของประชาชนที่มาสภาฯ ซึ่งสภาฯเป็นหัวใจสำคัญในการพิจารณากฎหมาย จะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณเข้ามาขับเคลื่อนให้การทำงานของสภาฯเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด" นายสุชาติ กล่าว