นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 วันนี้ว่า ผลคำตัดสินที่เลวร้ายที่สุดคือ พ.ร.บ.งบประมาณตกทั้งฉบับ ซึ่งอาจไม่เสียหายมาก แต่เสียเวลามากกว่าปกติ คือ ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ใหม่ และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา ซึ่งต้องมีการตกลงกันว่าจะมีการพิจารณา 3 วาระ หรือต้องมีการตั้งกรรมาธิการ ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางใดต้องรอฟังคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่ได้กังวลจนเกินเหตุแต่ต้องเตรียมตัวทำการบ้าน และต้องให้เกียรติผู้ถามที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีทุกคนก็ทำหน้าที่ตอบให้ดีที่สุด พร้อมทั้งยอมรับว่า รัฐบาลโดนยาแรงในการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเร็วกว่ารัฐบาลในอดีต ซึ่งงบประมาณก็ยังไม่ผ่านสภาเลย
ทั้งนี้ นายวิษณุ เชื่อว่า รัฐมนตรี 5 คนถูกอภิปรายไม่ได้เป็น ส.ส. เว้นแต่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นส.ส.มืออาชีพ คงไม่ไปตอบโต้ฝ่ายค้าน หากเรื่องใดที่ตอบไม่ได้ มีคนแนะนำว่า ให้บอกไปตามจริงไม่ทราบและจะไปตรวจสอบให้ภายหลังแทน
"รัฐมนตรีต้องให้ความร่วมมือในการตอบคำถาม อย่าไปตีรวน เรื่องใดตอบไม่ได้ก็บอกว่าตอบไม่ได้ ตอบได้แต่เป็นเรื่องลับ ไม่ควรจะเอามาโพนทะนากัน ณ ที่นี้ ก็ขอเปิดประชุมลับ หรือไม่ก็อย่าตอบเลย"นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีวิปรัฐบาลเตรียมจัดสัมมนารับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่พัทยา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 21-23 ก.พ. ที่จะมีการเชิญรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกคนไปร่วมสัมมนา ยกเว้นนายกรัฐมนตรีนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะไปร่วมงานด้วยหรือไม่ แต่เข้าใจเหตุผลที่มีการจัดสัมมนาเพื่อต้องการให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รวมถึงตนเอง ที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับส.ส.ของพรรค ได้มีการโอกาสปรึกษาหารือกันในประเด็นที่อาจจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ส่วนการควบคุมการอภิปรายถือเป็นหน้าที่ของประธานสภาที่จะทำหน้าที่รักษากฏระเบียบ ส่วนกรณีที่อาจมีการฟ้องร้องหากฝ่ายค้านมีการอภิปรายเกินเลยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งรัฐมนตรีแต่ละคนอาจมีทีมงานที่อยู่นอกสภาที่คอยมอนิเตอร์การอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ส่วนตัวไม่มีทีมงานแบบนั้น เพราะตนเองสามารถไปตรวจสอบย้อนหลังได้
ส่วนกรณีหากพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรค ส.ส.ของพรรค ยังสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจและสามารถลงมติได้ เว้นแต่ส.ส.ที่ถูกศาลตัดสิทธิทางการเมือง