นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ผ่านการพิจาณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวานนี้ทำให้ใจชื้นขึ้น ส่วนขั้นตอนจากนี้ทางวุฒิสภาจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาในช่วงบ่ายวันนี้ และหลังพิจารณาแล้วเสร็จจะต้องเก็บไว้ 3 วันก่อนส่งให้รัฐบาลเก็บไว้อีก 5 วัน จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งจะแล้วแต่ว่าทรงจะพิจารณาโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อใดก็เมื่อนั้น ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้มีนาคมนี้
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายก็จะมีผลใช้บังคับเพื่อเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ ทำให้สามารถที่จะเรียกผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินงานโครงการของภาครัฐ มาลงนามสัญญาได้ทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ใช้งบประมาณเก่าเบิกจ่ายไปพลางก่อน ซึ่งวันนี้ยังไม่มีการเบิกอะไรกันมาก เพราะทุกคนรับทราบว่า งบประมาณใหม่จะออกแล้ว ขณะที่โครงการต่างๆยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาผูกพัน ซึ่งหลายหน่วยงานดำเนินการลักษณะนี้ และจากนี้ไปรัฐบาลก็เข้าสู่ช่วงเวลาจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ต่อไป
สำหรับความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ร้ายแรงที่จังหวัดนครราชสีมานั้น นายวิษณุ ย้ำว่า ขณะนี้ขั้นตอนการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยายังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด เนื่องจากมีหน่วยงานรายงานมาว่า จะดำเนินการอะไรบ้าง โดยตนเองได้สั่งการให้แล้วเสร็จครบถ้วนภายในวันนี้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะเป็นวัน ทำบุญครบ 7 วันหากสามารถเบิกจ่ายได้ ก็ให้ดำเนินการได้เลย
ส่วนกรณีเงินกองทุนสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่เป็นเงินบริจาค โดยรัฐจะจ่ายสมทบให้ คนละ 1 ล้านบาทสำหรับผู้เสียชีวิต ยกเว้นผู้ก่อเหตุที่ต้องสำนวนสืบสวนคดีก่อนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้เน้นย้ำให้จ่ายเงินชดเชยให้รวดเร็ว ทั่วถึง และโปร่งใส และสามารถตรวจสอบการรับสิทธิ์ได้ ซึ่งตนเองได้แนะนำให้พิมพ์รายชื่อผู้ที่ได้สิทธิ์ทั้งหมดและแนบรายละเอียดว่าจะได้รับสิทธิ์อะไรบ้างเพื่อความถูกต้อง โดยผู้เสียชีวิตที่เป็นข้าราชการมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยตามระเบียบราชการอยู่แล้ว และจะได้รับเงินเยียวยาจากเงินสมทบของรัฐบาลด้วย
อย่างไรก็ตามเงินที่จ่ายชดเชยให้กับผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมาส่วนนี้ ไม่เกี่ยวกับเงินที่ภาคเอกชนบริจาค เนื่องจากเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งทางเอกชนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐบาล