ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี เนื่องจากกู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นจำนวนเงิน 191.2 ล้านบาท ซึ่งศาลฯ เห็นว่าแท้จริงเป็นการบริจาคเงินที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยการทำสัญญากู้เงินที่ผิดปกติวิสัยและเอื้อประโยชน์กับพรรคการเมือง ถือเป็นหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายในการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง
ทั้งนี้ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ รวม 16 คน ได้แก่
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรค
นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายนิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายสุรชัย ศรีสารคาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค
นายชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรค
นายสุนทร บุญยอด กรรมการบริหารพรรค
เมื่อเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีการกู้ยืมเงินจากนายธนาธรขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72
โดยศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นในการพิจารณาไว้ 4 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8:1 วินิจฉัยว่าขั้นตอนของ กกต.ในชั้นคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในการพิจารณากรณีเงินกู้ของพรรคอนาคตนำมาสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้ระยะเวลาพิจารณาคดีอย่างละเอียดถี่ถ้วน และให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยไม่ได้กระทำการเร่งรัดหรือรวบรัด เนื่องจากใช้เวลารวมทั้งหมดถึง 71 วัน
ประเด็นที่สอง มีเหตุสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 72 ประกอบมาตรา 92 หรือไม่ ศาลรัฐธรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7:2 วินิจฉัยว่า การที่พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะเป็นการฝ่าผืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 72 นั้น
ศาลฯ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 72 ได้กำหนดข้อห้ามไว้เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับเงินทรัพย์สิน หรือประโชน์อื่นใดเหล่นั้น อันจะทำให้พรรคการมืองกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุน หรือช่วยเหลือในการกระทำความผิดไปด้วย และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทย อันเป็นมาตรการที่สำคัญเพื่อเสริมสร้างสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทยให้เป็นสถาบันที่มีความโปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องอาศัยรายได้ของพรรคการเมืองซึ่งกฎหมายกำหนดแหล่งที่มาไว้ตามมาตรา 62
ดังนั้น เงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมิได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามที่กภูหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบ แม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มิได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมสำหรับพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับ พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และเงินกู้ยืมแม้มิได้เป็นรายได้แต่ก็เป็นรายรับ และเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองจึงต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว การกู้ยืมงินของพรรคการเมืองจึงต้องสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
จากข้อเท็จจริง พฤติการณ์และพยานหลักฐานดังกล่าว เห็นว่า การกู้ยืมเงินของผู้ถูกร้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นตามมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 วรรคสอง ประกอบมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)
ประเด็นที่สาม คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 92 วรรคสองหรือไม่อย่างไรนั้น ศาลรัฐธรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7:2 วินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง จึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง และเมื่อศาลรัฐธรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว จึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 2 ม.ค.62 หรือวันที่ 11 เม.ย.62 โดยกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี ดังคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ลงวันที่ 7 มี.ค.62 ดังนั้นจึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องมีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง
ประเด็นที่สี่ ผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบตามมาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7:2 วินิจฉัยว่า เมื่อสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จึงต้องสั่งห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 2 ม.ค.62 หรือวันที่ 11 เม.ย.62 ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค