นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยก่อนเริ่มการอภิปรายฯ นายชวนได้ชี้แจงถึงกรอบเวลาในการอภิปรายตั้งแต่วันที่ 24-27 ก.พ.63 ตั้งแต่เวลา 09.30-24.00 น.โดยกำหนดให้การอภิปรายเสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 ก.พ.63 เวลา 19.00 น.แต่ไม่รวมการสรุปการอภิปราย 2 ชั่วโมง
สำหรับการอภิปรายจะเรียงลำดับไป เริ่มจาก 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
โดยรัฐมนตรีสามารถชี้แจงหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นชี้แจงได้ตลอดเวลา หรือจะไม่ชี้แจงก็ได้ ส่วนสมาชิกห้ามอภิปรายในประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญานตนเนื่องจากเป็นเรื่องทีเกิดขึ้นก่อนการบริหารราชการแผ่นดิน และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล 5 ด้าน ทำให้ไม่ไว้วางใจที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการแผ่นดินได้ต่อไป ได้แก่
ประการที่ 1 ความล้มเหลวต่อการสร้างความเชื่อมั่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยการเมืองภายใต้นับตั้งแต่ที่พวกท่านเข้ามาบริหารบ้านเมือง ได้สร้างกลไกต่าง ๆ เพื่อรักษาอำนาจเฉพาะพวกพ้อง สร้างกติกาที่กล่าวอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นที่กังขาของผู้คนทั้งสังคม นับตั้งแต่การกำหนดกฎกติการัฐธรรมนูญที่มีการพูดกันในหมู่พวกท่านว่าเป็น "รัฐธรรมนูญที่ร่างมาเพื่อพวกเรา" ซึ่งอาศัยเสื้อคลุม "ประชาธิปไตย" มากล่าวอ้าง อย่างเช่น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านที่ได้มาในครั้งนี้ก็เพราะมือที่สนับสนุนจาก ส.ว.ทั้งหมดที่ท่านและพวกพ้องแต่งตั้งกันขึ้นมาเอง
"ผมอยากจะบอกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านในวันนี้ มิได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ผมอยากจะบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนไม่ได้เลือกท่านให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพราะเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่พวกท่านสร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจต่างหากที่นำพาท่านให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ท่านอย่าอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติแบบมัดมือชก แบบมีคำถามพ่วง เอาคนเห็นต่างไปปรับทัศนคติ ดำเนินคดีกับผู้รณรงค์ไม่เห็นด้วยในศาลทหาร ด้วยเงื่อนไขกลไกทางรัฐธรรมนูญที่พวกท่านสร้างขึ้นมา" นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นบั่นทอนความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่มีต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยประเทศเรา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นใจในการลงทุน รวมทั้งการเจรจาประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีผลต่อประเทศ เพราะวันนี้เกือบทุกประเทศในโลกล้วนไม่เปิดใจยอมรับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แม้วันนี้ประเทศเราอาจจะดูดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่มีการเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยจอมปลอมแบบที่สร้างขึ้นนั้นได้ก่อปัญหาต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นความสับสนในการคิดคะแนนเพื่อให้ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ การนำเข้า-ถอดออกชื่อ ส.ส.เพราะผลจากคะแนนเลือกตั้งซ่อม และปัญหาอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความไม่มั่นคงแน่นอนให้กับการเมืองบ้านเรา ในเมื่อประเทศที่มีการเมืองไม่มั่นคง ล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย แล้วจะทำให้ประเทศเราเดินต่อไปข้างหน้าในสังคมโลกอย่างภาคภูมิได้อย่างไร
"ผมจึงไม่อาจไว้วางใจให้พวกท่านอยู่ในตำแหน่งกันต่อไปเพื่อกร่อนเซาะการเมืองระบอบประชาธิปไตยของประเทศให้ถดถอยผิดรูปผิดร่าง ให้อับอายต่อสายตาชาวโลก และที่สำคัญผมไม่อาจไว้วางใจให้พวกท่านส่งต่อประชาธิปไตยจอมปลอมไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่เป็นอนาคตของชาติ" นายสมพงษ์ กล่าว
ประการที่ 2 ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ นับแต่การใช้กลไกที่พวกท่านสร้างขึ้น ออกแบบและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับ"เพื่อพวกเรา"ได้ทำให้หลักการแห่ง"ความยุติธรรม"แปลงร่างเป็น"หลักกูและพวกพ้อง"อย่างไม่รู้สึกอับอาย มีตัวอย่างผลงานมากมายที่ทำลายหลักการและมาตรฐาน อันกลายเป็นภาพลักษณ์อัปยศที่ทำให้ไม่อาจเชื่อถือยอมรับได้ เช่น การตีความข้อกฎหมายกับคะแนนปัดเศษ เพื่อให้ระบบพรรคการเมืองเสื่อมทรุด และเพื่อเพิ่มช่องทางให้ได้พรรคเล็กมาหนุนเสริมอำนาจตน
รวมทั้งการไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณ ทั้งที่มีกฎหมายกำหนดไว้ การนำบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ามีคดีต้องโทษเกี่ยวกับยาเสพติดในต่างประเทศ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี การให้อภิสิทธิ์กับพรรคแกนนำรัฐบาลบางพรรคสามารถจัดระดมทุนเข้าพรรคได้อย่างเอิกเกริกด้วยการรับบริจาคจากหน่วยงานรัฐและเอกชนรายใหญ่เป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท
"กรณีนี้เป็นการกระทำที่เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย แต่แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็ยังใช้กลไกและข้ออ้างต่างๆ แบบข้างๆ คูๆ เพื่อให้รอดพ้นความผิด ที่เลวร้ายที่สุด คือ การใช้คดีความเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง กดดัน บุคคลบางกลุ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพวกท่าน"นายสมพงษ์ กล่าว
ประการที่ 3 ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ วันนี้รัฐบาลมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจชื่อ พล.อประยุทธ์ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์อย่างช่ำชองทางด้านการทหาร เข้ามานำทีมเพื่อต่อสู้กับสงครามทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรากำลังเอาเศรษฐกิจประเทศที่กำลังวิกฤติไปอยู่ในมือของคนที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจเลย จนในหลาย ๆ ครั้งได้เห็นรัฐบาลที่ทำไปโดยไม่ได้คิด
"ท่านทราบหรือไม่ว่าด้วยความสามารถของท่าน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตต่ำ เกือบจะต่ำที่สุดในโลก ซึ่งขายหน้ายิ่งนัก ไตรมาส 4 ที่ผ่านมาโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี และคาดการณ์ GDP ปีหน้าโตเพียงครึ่งหนึ่งของศักยภาพประเทศที่ 3.9% ผลผลิตด้านอุตสาหกรรมดิ่งเหว รายได้เกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักของประเทศต่ำสุดในรอบ 7 ปี ท่านทำให้ครัวเรือนที่เป็นหนี้ มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงถึง 97.7% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เงินออมของประชาชนต่ำสุดในรอบ 9 ปี รายได้และการใช้จ่ายของประชาชน ลดลงครั้งแรกในรอบ 9 ปี ด้วยฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของท่านและพวกพ้อง วันนี้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยลำบากยากแค้นทุกหย่อมหญ้า"
นายสมพงษ์ ระบุว่า จะแบ่งช่วงเวลาที่สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดที่ต่อเนื่อง จนกลายเป็นความล้มเหลวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจไทยเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ ดังนี้
ระยะที่ 1 พ.ศ.2557-2558 เป็นช่วงทำลายเศรษฐกิจฐานราก ทันทีที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้มีการประกาศยกเลิกมาตรการสนับสนุนสินค้าการเกษตรเกือบทั้งหมดแบบกระทันหัน เพราะเพียงเกรงจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก "ประชานิยม"เพราะด่าเขาไว้เยอะ แต่ทราบหรือไม่ว่าสิ่งที่ทำไปได้ทำลายกำลังซื้อส่วนใหญ่ของประเทศ ทำร้ายพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ และจนถึงวันนี้พวกเขาก็ยังไม่มีกำลังฟื้นตัว กำลังซื้อของประเทศเราจึงฟุบจนถึงขีดอันตราย และยังหาหนทางแก้ไขปัญหาไม่ได้
ระยะที่ 2 พ.ศ. 2559-2560 ภายหลังจากการยึดอำนาจ ทันทีที่อำนาจเริ่มมั่นคง ก็ได้เริ่มแสวงหาประโยชน์ให้พวกพ้อง มาตรการต่างๆในช่วงนั้นมุ่งเป้าอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อพวกพ้อง บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและใกล้ชิดกับรัฐบาลได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการ EEC/บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ/การก่อสร้างรถไฟ 3 สนามบิน หรือ Mega Project ต่างๆ ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่ราย
"ท่านอาจจะคิดว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องรดน้ำไปจากยอด ให้ธุรกิจรายใหญ่เติบโตแล้วค่อยล้นไปที่ราก แต่วันนี้พิสูจน์แล้วว่าพวกท่านคิดผิด พวกท่านผิดพลาด เพราะพวกท่านเพียงอาศัยมือของพี่น้องประชาชนที่ยากจน ผ่านเม็ดเงินมหาศาล ไปให้เจ้าสัวอภิมหาเศรษฐี โดยไม่ได้ใส่ใจเงินในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่แม้แต่น้อย"นายสมพงษ์ กล่าว
ระยะที่ 3 พ.ศ. 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง เป็นช่วง"สารพัดแจกมั่วซั่วเพื่อการสืบทอดอำนาจ"โดยออกแบบมาตรการเสมือนการซื้อเสียงล่วงหน้า เช่น การเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชิมช็อปใช้เฟสต่างๆ โครงการแจกเงินเที่ยว โครงการบ้านดีมีดาวน์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้ง
"ท่านอาศัยช่องว่าง ตีความแบบศรีธนญชัยว่าท่านไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ มีอำนาจเต็ม แจกเบี้ยสูงอายุ แจกบัตรคนจน เพิ่มเบี้ย อสม.ก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน โดยท่านไม่มีความละอายใดๆ เลยว่าท่านเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง"นายสมพงษ์ กล่าว
ระยะที่ 4 พ.ศ. 2562-2563 ทุ่มให้สินเชื่อแต่ไร้กำลังซื้อ เพราะความไม่เข้าใจว่าช่วงเวลาไหนประเทศไทยต้องการอะไร จึงทุ่มสินเชื่อนับแสนแสนล้าน แต่กลับไม่รู้ว่าปัญหาของเอกชนคือไม่มีคนจะซื้อของที่พวกเขาผลิต ไม่ว่าจะเป็นโครงการประชารัฐสร้างไทย มาตรการต่อเติมเสริมทุน SMEs สร้างไทย ทำให้เศรษฐกิจพังพินาศจนประเทศไม่สามารถขับเคลื่อนได้โดยกำลังซื้อ แต่กลับเอาเงินมาให้สินเชื่อ ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใดต่อธุรกิจเพราะขายไม่ได้ แต่ประโยชน์กลับตกไปสู่มือเอกชนที่แข็งแรงที่ใกล้ชิดกับพวกท่าน
นายสมพงษ์ กล่าวว่า การดำเนินงานทั้ง 4 ระยะที่กล่าวมานี้ เป็นภาพสะท้อนถึงความผิดพลาดของการบริหารเศรษฐกิจของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและคณะ
"จะด้วยความไม่รู้ มือไม่ถึง ไร้ศักยภาพ หรือจะด้วยผลประโยชน์แอบแฝงของพวกพ้อง ...แต่ท่านได้ทำลายประเทศที่ท่านพูดเสมอว่าท่านรัก ท่านได้ทำลายชีวิตของประชาชน ทำลายศักยภาพของประเทศ ท่านทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศโดยการบริหารที่ผิดพลาด เลือกคนที่ไร้ความสามารถมาบริหาร ท่านทำประเทศที่เคยเป็นความหวัง กลายเป็นประเทศสิ้นหวัง ไร้ทิศทาง ท่านได้ใช้เงินงบประมาณประเทศออกแบบมาตรการเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง...ผมจึงไม่อาจไว้วางใจให้ท่านทำความเสียหายด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไปได้ ผมทนไม่ได้ที่จะเห็นประเทศต้องล่มจมเพราะความไร้ประสิทธิภาพของท่าน"
ประการที่ 4 ความล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาหมักหมมต่อเนื่องกันมากว่าหลายปี เกิดขึ้นจากการบริหารที่ของรัฐบาลที่ปราศจากการตรวจสอบ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นเพียงเพื่อสร้างภาพ และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม แต่ในขณะที่หากเป็นคนในฟากฝั่งรัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต กลับมีการปกป้องพวกพ้องอย่างเห็นได้ชัด ละเลยที่จะดำเนินการ
โดยมีข้อมูลจากผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่า ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาล ของท่าน เพิ่มขึ้นถึง 37% สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 58 และคาดว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในปี 61 จะเพิ่มขึ้นเป็น 48% สถานการณ์คอรัปชันไทยเริ่มมีสัญญาณรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังปี 58 จากที่ได้เริ่มมีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยพบว่า อัตราการจ่ายใต้โต๊ะปี 60 อยู่ที่ 5–15% สูงสุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 58
และอีกข้อมูลหนึ่งที่ยืนยันความล้มเหลวในการปราบทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั่วโลก ประจำปี 2018 ซึ่งผลปรากฏว่า ประเทศไทยถูกลดอันดับลงจากอันดับที่ 96 เมื่อปี 60 เป็นอันดับที่ 99
แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ ความรุนแรงของการคอร์รัปชันในกองทัพ การทำธุรกิจหาประโยชน์กันในกองทัพ จนกลายเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมกราดยิงที่โคราช
"ผมอยากตั้งคำถามว่า เรื่องเหล่านี้ คนที่เป็นอดีต ผบ.ทบ.ทั้งหลาย ที่วันนี้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังปล่อยปละละเลย ทำอะไรไม่ได้ แล้วจะมีความจริงใจในการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศ อย่างไร ดังนั้นผมจึงไม่อาจไม่วางใจให้พวกท่านอยู่ในตำแหน่งเพื่อบริหารประเทศกันต่อไป โดยที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ซ้ำร้ายยังปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้น"
ประการที่ 5 ความล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเป็นผู้นำกองทัพที่ดี แต่สำหรับการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศคิดว่าสอบตก
"ท่านอาจจะมีความคุ้นชินกับการบริหารราชการแบบทหารที่ยึดถือว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุด คำสั่งการเป็นแบบบนลงล่างที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ไม่ต้องการการทักท้วง หรือ ความเห็นต่าง โดยไม่ได้เข้าใจว่าการบริหารประเทศนั้นต้องการการมีความส่วนร่วมของผู้คนทุกภาคส่วนในการมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และด้วยความเคยชินกับการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ หลายครั้งเราจึงได้เห็นพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี เช่น การทุบโต๊ะ โยนของใส่ผู้สื่อข่าว มองเห็นคนเห็นต่างเป็นศัตรู ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม" นายสมพงษ์ กล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำพูดที่สะท้อนวุฒิภาวะทั้งทางปัญญาและอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในหลายๆ วาระ ที่นอกจากจะไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มเติมขึ้นไปอีก หลายครั้งคำพูดนั้นก่อให้เกิดผลกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกด้วย เช่น การพูดถึงนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษสองคนถูกฆาตกรรมบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี
และล่าสุดเป็นความสะเทือนใจของคนไทยทั้งประเทศที่เห็นท่าที การแสดงออกทั้งทางคำพูดและการแสดงออกที่ผิดกาลเทศะ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญกราดยิงที่โคราช การแสดงออกของพล.อ.ประยุทธ์ ได้สื่อสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้นำประเทศ ที่น่าอับอาย
"ผมจึงไม่อาจไว้วางใจให้ท่านซึ่งประกาศตัวว่ามีเซลล์สมอง 84,000 เซลล์ บริหารประเทศต่อไปได้ ท่ามกลางความล้มเหลวต่อความเชื่อมั่นของประชาชนส่วนใหญ่ในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีคนนี้...ผมไม่อาจไว้วางใจท่านให้บริหารประเทศแล้วทำให้ลูกหลานของเราในอนาคตต้องรับมอบประเทศไทยที่เป็นซากปรักหักพังต่อจากคนรุ่นเรา ผมจึงกล่าวหาท่านด้วยความล้มเหลวทั้ง 5 ประการ และไม่อาจไว้วางใจให้ท่านบริหารประเทศต่อไปได้" นายสมพงษ์ กล่าว