นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ใน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ 1. ประเด็นการแจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกรัฐมนตรีที่ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินที่เป็นรายรับ 128 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายถึง 466 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่สัมพันธ์กัน
พร้อมกับเชื่อมโยงไปถึงการได้มาซึ่งเงินจำนวน 600 ล้านบาทจากการขายที่ดินของบิดาย่านบางบอน เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ให้แก่บริษัท 69 property จำกัด ซึ่งนายยุทธพงษ์แสดงภาพโครงสร้างของบริษัทดังกล่าวที่โยงใยกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทดังกล่าวเพิ่งเปิดดำเนินการได้เพียง 7 วันก่อนหน้าจะมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินในวันที่ 9 พ.ค.56 และวัตถุประสงค์การจดทะเบียนธุรกิจพบว่าบริษัทดังกล่าวประกอบกิจการเพาะพันธุ์ไม้ยืนต้นเพื่อการจำหน่าย
อีกทั้งสภาพของบริษัทเป็นเพียงทาวเฮาส์ที่ตั้งอยู่ในย่านตลิ่งชัน ไม่มีความน่าเชื่อถือว่าจะมีเงินมากถึง 600 ล้านบาทเพื่อมาซื้อที่ดินในแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมองไม่เห็นถึงประโยชน์และความคุ้มค่าที่บริษัทจะซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้ เนื่องจากพื้นที่นี้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวของ กทม.ห้ามมิให้มีการนำไปก่อสร้างทั้งประเภทของโรงงาน โรงแรม สถานบริการ ที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ห้องชุด เป็นต้น
2. ประเด็นการต่ออายุสัญญาให้แก่ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ซึ่งเป็นของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ในการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นานถึง 50 ปี ทั้งๆ ที่บริษัทดังกล่าวเคยทำผิดเงื่อนไขโดยไม่ได้มีการก่อสร้างโรงแรมขนาด 500 ห้องตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งการต่อสัญญาดังกล่าวกระทำการโดยไม่ฟังคำทักท้วงจากหลายหน่วยงาน เช่น อัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ ที่เห็นว่าการแก้ไขสัญญาเพื่อให้เอกชนบริหารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม อีกทั้งควรจะต้องนำเข้ามาเป็นโครงการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อให้เกิดการแข่งขันของเอกชนอย่างเปิดกว้างและโปร่งใส ไม่ใช่การต่อสัญญาให้กับเอกชนรายเดิม
3.การแก้ไขสัญญาให้บีทีเอส ได้รับการต่ออายุสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายอีก 30 ปี ทั้งที่ยังเหลืออายุสัญญาอีก 10 ปี ด้วยการอออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้มีการยกเว้นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 62
"ทั้ง 3 เรื่องนี้ที่ได้เรียนต่อที่ประชุมเพื่อเป็นข้อสนับสนุนญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ตามที่ผู้นำฝ่ายค้านได้ยื่นไว้ และไม่อาจไว้วางใจให้คุณประยุทธ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป" นายยุทธพงษ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีการขายที่ดินมูลค่า 600 ล้านบาทเป็นสมบัติของบิดา และได้รับเป็นมรดกตกทอดมา จนมีการขายที่ดินแปลงดังกล่าวในปี 56 สมัยที่ตนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งที่ดินนี้ไม่ได้เป็นบ่อตกปลาตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้าง แต่เป็นลำรางสาธารณะ และเป็นที่ดินแปลงใหญ่สุดในย่านนั้น อีกทั้งติดถนน จึงทำให้มีมูลค่าสูงถึง 609 ล้านบาทตามราคาตลาดในขณะนั้น และปัจจุบันราคาขยับขึ้นไปถึง 812 ล้านบาท อีกทั้งมีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้มีการแจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งในช่วงที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก และตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรี
"ก่อนปี 56 พ่อผมได้ติดป้ายประกาศ ใครสนใจก็ติดต่อมา ก็มีติดต่อมาหลายเจ้า แต่ยังไม่ขาย จนท้ายสุดก็มีบริษัทนี้ (69 property) ผมก็ไม่รู้บริษัทใคร ตอนนั้นผมเป็น ผบ.ทบ. ไม่ได้รู้จักใครพิเศษเป็นส่วนตัว และไม่คิดว่าผมจะเอื้อประโยชน์ให้เขาได้ในอนาคตด้วย ถ้างั้นคุณก็หมายความว่าผมไปต่อรองกับเขาว่าถ้าซื้อพื้นที่ตรงนี้ แล้ววันหน้าผมจะดูแลเขา ผมจะไปสัญญากับเขาได้ไหมว่าวันหน้าผมจะเป็นนายกฯ มันไม่ใช่นะ คุณพูดเกินไปหรือเปล่า...ส่วนบริษัท 69 property ที่มาซื้อและไปพัฒนานั้น ก็ไม่ทราบว่าจะนำไปพัฒนาอะไร แต่ไม่ใช่แค่บริษัทที่ปลูกต้นไม้ เขามีสิทธิในการประกอบธุรกิจเยอะแยะ"นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกรณีการต่ออายุสัญญาให้แก่บริษัท NCC ในการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า ในสัญญาที่กรมธนารักษ์ทำไว้กับ NCC ในอดีตคือ NCC จะต้องบริหารศูนย์ประชุมฯ และต้องมีการก่อสร้างโรงแรมขนาด 400 ห้องขึ้นไป สร้างที่จอดรถได้ 3 พันคัน และต้องมีศูนย์การค้ามิเช่นนั้นจะถือว่าผิดสัญญา
"ทุกคนรอว่าเมื่อไร NCC จะทำสิ่งเหล่านี้ สัญญาที่ทำไว้กับ NCC มีหลายช่วง ส่วนที่เป็นปัญหาคืออายุ 25 ปี แต่ถ้าใน 25 ปีนี้ NCC ไม่ทำในสิ่งที่ว่ามาทั้งหมด NCC ผิด และเลิกสัญญาได้ แต่สัญญาที่ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลใดไม่ต้องพูดถึง เขียนข้อความแปลกในสัญญาว่า อายุ 25 ปี ยังไม่เริ่มนับ 1 จนกว่า NCC จะสร้างสิ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้แล้วเสร็จ ในระหว่างนี้จะเสียค่าเช่าปีละร้อยล้านก็ว่ากันไป แต่กรณี 25 ปี จะนับ 1 เมื่อโรงแรมเสร็จ ที่จอดรถเสร็จ ศูนย์การค้าเสร็จ ดังนั้น มันก็ได้เวลาฟรีๆ ไปโดยที่ 25 ปียังไม่นับ แต่เสียค่าเช่า ต่อมา NCC บอกว่าไม่สามารถทำตามสัญญาได้ จึงเข้าทางกระทรวงคลังที่จะบอกเลิกสัญญา"นายวิษณุ กล่าว
สำหรับสาเหตุที่ NCC ไม่สามารถสร้างสิ่งที่ระบุไว้ในสัญญาได้ เนื่องจาก กทม. และกระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบผังเมืองกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นสีน้ำเงิน กล่าวคือ เป็นส่วนราชการ จึงไม่สามารถก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ รวมถึงการออกกำหนดความสูงไม่เกิน 23 เมตร ดังนั้นจึงยากที่จะสร้างโรงแรมตามสัญญา
กระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลปี 2544 ได้มีเจตนาดีที่จะเลิกสัญญา จึงมีข้อหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้รับคำตอบกลับมาว่าถ้า NCC ผิดสัญญาจริงสามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่จากที่ได้พิจารณามาทั้งหมดนี้ เห็นว่าการที่ NCC ไม่สามารถทำตามสัญญาได้โดยเหตุอันสุดวิสัย หาใช่ความผิดของ NCC แต่เป็นข้อที่ทางราชการต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจึงไม่สามารถยกเลิกสัญญากับ NCC ได้ ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเสนอแนวทางการแก้ไขสัญญา เพื่อให้ NCC สามารถก่อสร้างได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และจะได้เริ่มนับ 1 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าทำได้ โดยเป็นเพียงการแก้ไขสัญญา แต่ไม่ใช่การยกเลิกสัญญา
คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติกรณี NCC ขอแก้สัญญา และเปลี่ยนมาเป็นขอเช่า 50 ปี แทน 25 ปี ซึ่งมติกรรมการที่ราชพัสดุได้อนุมัติให้ NCC เช่าที่ราชพัสดุเพื่อบริหารดำเนินการศูนย์ประชุมฯ สิริกิติ์ เป็นระยะเวลา 50 ปีตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และให้ไปทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย
"รัฐบาลได้คำตอบจากกฤษฎีกาแล้วว่า เลิกสัญญาไม่ได้ แต่แก้สัญญาได้ และที่แก้สัญญานั้น คือเปลี่ยนเป็นให้เช่า ปัญหาต่อมาคือ การเช่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งถ้าทำ แปลว่าต้องเปิดประมูล กฤษฎีกาตอบมาเมื่อปี 44 ว่าถ้าเป็นการแก้สัญญาเพื่อให้เอกชนผู้เช่ารายเดิมเช่าต่อไป ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนที่มีอยู่ เพียงแต่แก้สัญญาเท่านั้น ส่วนเงื่อนไขจะทำอย่างไรให้รัฐได้ประโยชน์ ให้ไปเจรจากันเอง" นายวิษณุกล่าว
โดยหลังจากนั้น ได้มีการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดว่าจะมีการแก้สัญญาเป็นให้ NCC เช่า 50 ปี โดยเป็นผู้เช่ารายเดิม ไม่ต้องเปิดประมูล พร้อมกับส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจ ผลคืออัยการสูงสุดตอบกลับมาเมื่อ 29 ก.ค.59 ว่าการแก้ไขสัญญาให้มี 10 ข้อพึงระวัง จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมพิจารณาและทำหนังสือชี้แจงถึงข้อสังเกต 10 ข้อกลับไปยังอัยการสูงสุดแล้ว เมื่อ 13 ต.ค.59 และอัยการสูงสุดจึงไม่ติดใจใน 10 ข้อดังกล่าวแล้ว เรื่องนี้กระทรวงการคลังจึงได้นำเข้าครม. และเป็นที่มาของมติครม.ในวันที่ 17 ม.ค.60
"ทั้งหมดนี้จะเป็นการเอื้อหรือไม่เอื้อ คำนี้เป็นเพียงความเห็น ผมจะไม่โต้แย้งคัดค้าน แต่จะเอื้อหรือไม่เอื้อ ต้องไปดูว่าเอื้อกันมาตั้งแต่รัฐบาลไหน ต้องพูดกันต่อไปว่า เอื้อไปแล้วไม่สำเร็จหรืออย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งหมดนี้ข้อเท็จจริงล่าสุดพัฒนามาอย่างไร จนกลายมาเป็นการลงนามในปัจจุบัน"นายวิษณุ กล่าว