นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ประชาชนขาดความเชื่อมั่นเพราะท่าทีของนายกรัฐมนตรีไม่อยู่กับร่องกับรอย นักลงทุนไม่กล้าลงทุนเพราะยังมีกำลังการผลิตเดิมเหลืออยู่ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 69 เดือน การส่งออกในปี 62 น่าจะขยายตัวติดลบห่างจากเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะเติบโต 3% ซึ่งหากย้อนดูตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้วจะเห็นว่าขยายตัวไม่เกิน 4% และปีนี้น่าจะไม่เกิน 2% เศรษฐกิจเกิดภาวะเงินฝืด
"เศรษฐกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น เท่ากับการบริหารงานของรัฐบาลทำให้ประเทศชาติเสียหายราว 1.5 ล้านล้านบาท" นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเหมือนเป็นมะเร็ง หากไม่รีบแก้ไขจะเข้าสู่ภาวะอันตราย เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่รัฐบาลควรทำแต่ไม่ได้ทำ สิ่งที่รัฐบาลทำไปไม่เกิดผลกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม่ปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐให้มีขนาดลดลงแล้วไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนภาครัฐ, ไม่ใช่วิธีปรับลดภาษีของประชาชนเพื่อเพิ่มกำลังการบริโภค, ไม่สามารถบังคับการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพจนส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย
"สิ่งที่รัฐบาลทำผิดฝาผิดตัวกลายเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงไปอีก" นายจุลพันธ์ กล่าว
สิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ คือ การปล่อยปละละเลยในการเข้าไปดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าอย่างหนักจนเอกชนเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า ตัวเลขยอดเกินดุลการค้าที่มีมากกลายเป็นปัญหากับดักสภาพคล่อง ซึ่งหากรัฐบาลสามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ที่ 33-34 บาท/ดอลลาร์ อย่างน้อยจะส่งผลให้ GDP ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5%
ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองอันเนื่องมาจากไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุน ขณะที่การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหาผู้จบการศึกษาว่างงาน ขณะที่แรงงานต่างด้าวกลับไปทำงานในประเทศตัวเอง ขณะที่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่จะเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ส่วนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่สามารถทำให้มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นตามเป้าหมายเพราะรัฐบาลยึดหลักเรื่องความมั่นคงเป็นสำคัญ
"หลังจากนี้ไปเศรษฐกิจจะตกต่ำแบบเร่งตัว ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าประชาชนหมดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำนับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจทำรัฐประหาร กุญแจที่จะแก้ปัญหาได้ต้องเอาพลเอกประยุทธ์ออกจากนายกรัฐมนตรี" นายจุลพันธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ลดลงปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงถึง 6 ครั้ง ประกอบกับเกิดปัญหาสงครามการค้า และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านก็ชะลอตัวลงเช่นกัน
รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ราคาปาล์มน้ำมันจากกิโลกรัมละ 2.60 บาท เป็น 6 บาทกว่า โดยนำไปใช้ทำไบโอดีเซล B10, การเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภาครัฐเพื่อพยุงราคาให้ปรับตัวตัวสูงขึ้น สำหรับการลงทุนในประเทศนั้นก็ส่งเสริมการผลิตสินค้าใหม่ๆ ไม่ใช่สินค้าเดิมๆ จึงอยากให้ฝ่ายค้านนำเสนอเรื่องดีๆ บ้าง
สำหรับมาตรการดูแลปัญหาโควิด-19 ไม่ให้เกิดปัญหา โดยมีมาตรการที่เหมาะสม ไม่ได้นำดฎหมายมาบังคับใข้เหมือนในต่างประเทศ
นอกจากนั้น รัฐบาลยังการส่งเสริมอาชีพประชาชนก็สอบถามตามความสมัครใจ, การดูแลเรื่องการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร,การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบกว่า 2.7 โครงการ ในปี 62 ทุกหมู่บ้านมีน้ำประปาใช้จากเดิมที่ยังขาดอยู่ 9,000 หมู่บ้าน, ขณะที่จำนวนสถานประกอบการที่เปิดใหม่มีการรับคนงานมากกว่าสถานประกอบการที่ปิดกิจการไป รวมทั้งมีการขยายเส้นทางขนส่งระบบรางเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 กิโลเมตร ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเองยังไม่รู้ว่าสร้างความเสียหายตรงไหนตามที่มีการกล่าวหา