พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความใกล้ชิดกลุ่มทุนขนาดใหญ่และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเจ้าสัว อาทิ โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีทอง บนถนนเจริญนคร เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
รมว.มหาดไทย กล่าวว่า รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีทอง เป็นรถไฟฟ้า 1 ใน 8 สายที่อยู่ในแผนพัฒนาโครงการขนส่งมวลชนขนาดรองปี 52 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่ง กทม.ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ไปดำเนินการหาแนวทางลงทุนในโครงการนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่พึ่งพางบประมาณของ กทม. จึงได้ลงนามนข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับภาคเอกชน และมีการซื้อโฆษณาล่วงหน้าเป็นเวลา 30 ปี เป็นเงิน 2 พันกว่าล้านบาท
ทั้งนี้ ระบบขนส่งมวลชนเป็นความจำเป็นของทุกเมือง เพราะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจร สิ่งแวดล้อม ลดการใช้ยานพาหนะของประชาชน และลดอุบัติเหตุ ระบบขนส่งมวลชนที่จะต้องเป็นระบบรางที่มีทั้งระบบหลักและระบบาง เพื่อดึงให้คนเข้าสู่ระบบการขนส่งมวลชนให้มากที่สุด แต่ปัญหาสำคัญคือทำได้ช้ามากและใช้เงินลงทุนมาก กว่าจะคุ้มทุนต้องใช้เวลา 10 ปี
ในอดีตที่ผ่านมามีเอกชนลงทุนงานโยธาเพียงแห่งเดียว คือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และในช่วงแรกก็ประสบปัญหาการขาดทุนมาโดยตลอด จากนั้นเป็นต้นมาภาครัฐต้องเข้ามาลงทุนสร้างงานโยธาเองและจ้างบริษัทเดินรถ ทำให้การลงทุนเกิดความล่าช้า จึงนำมาสู่การลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ หากมีเอกชนรายใดต้องการสร้างงานโยธาของระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่และขอดำเนินการลงทุนทั้งหมด ก็ควรจะต้องพิจารณา โดยมีหลักการพิจารณาว่า ถ้าประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์ก็ควรรับพิจารณา แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายและเป็นธรรม ไม่อย่างนั้นจะต้องรอให้รัฐลงทุนเองซึ่งจะเป็นไปได้ช้ามาก
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเมื่อมีการดำเนินการก่อสร้างแล้ว รัฐจะได้เส้นทางสายสีทองมาโดยไม่ได้ลงทุนงานก่อสร้าง ประชาชนได้ระบบรถไฟฟ้าสายรองในพื้นที่ที่จะสามารถขยายต่อไปได้อีก ส่วนเอกชนก็สามารถอาศัยแนวรถไฟฟ้าประกอบธุรกิจได้
ส่วนการยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 37 ที่กำหนดให้ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ต้องสร้างเป็นระบบใต้ดินนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า สายสีทองเป็นสายรองที่ต้องเชื่อมกับสายสีเขียวที่มีอยู่แล้ว และสายสีแดงเข้มที่ยังไม่มี และสายสีม่วงที่ยังไม่มี หากไม่ทำเช่นนี้จะต้องใช้เงินลงทุนและเวลาดำเนินการอีกมาก ซึ่งเมื่อมีสายสีเขียวที่อยู่บนดิน มติ ครม.จึงยกเว้นให้สามารถก่อสร้างบนดินได้เพื่อเชื่อมกับสายสีเขียว
พล.อ.อนุพงษ์ ยอมรับว่า การจ้างเดินรถจำเป็นต้องจ้างบีทีเอส เพราะมีโครงข่ายสีเขียวอยู่แล้ว หากจ้างเอกชนรายอื่นจะมีปัญหาเรื่องงานระบบที่จะต้องเชื่อมโยงกัน และอาจมีปัญหาเรื่องอื่นๆตามมา อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาจาก KT ยืนยันว่าในการจ้างเดินรถเส้นสายสีทองจะเกิดผลขาดทุน
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า อยากเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ช่วยพิจารณาเรื่องแนวทางของคำว่า "เอื้อ" ด้วย การลงทุนในประเทศจะต้องมีนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องมีช่องให้นักลงทุนภายในประเทศได้มีโอกาสลงทุนด้วย และอยากเสนอให้สภาช่วยพิจารณาว่า ขอบเขตที่เอกชนสามารถลงทุนได้แค่ไหน สังคมควรช่วยกันพิจารณาด้วย
"ขณะนี้สังคมกำลังคิดว่าทางเอกชนรวยมาก เอกชนได้เปรียบ เอาตัวมาเปรียบเทียบรายได้ของคนไม่กี่คนได้เงินมาก อยากลดตรงนี้ ท่านลองพิจารณาดูว่า ท่านมาถูกวิธีหรือไม่ ที่จะให้คนที่รวยที่ลงทุนในแผ่นดินนี้แต่ทำตามกฎหมาย คุณไม่ให้เขาลงทุน จะหาอะไรไปขัดขวางเขา ท่านจะให้ใครมาลงทุน ถ้าไม่ให้คนในประเทศ ก็ต่างชาติ ถ้าไม่ให้ต่างชาติ ทุกคนก็อยู่เฉยๆ เรามีความสามารถจะทำได้ ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ถ้าเราคิดว่าจะลดความเลื่อมล้ำด้วยการทำอะไรก็ตามเข้าข่ายเอื้อหมด นายกรัฐมนตรีเป็นส่วนเดียวเท่านั้น เขาขอเข้า ครม. มติ ครม.นายกรัฐมนตรีสั่งไม่ได้ ไม่มีใครยอมไปเป็นคดี และผมอยู่ในคณะรัฐมนตรีก็มีหลายเรื่องที่ไม่เห็นด้วยและก็ถอนกลับไปเป็นประจำๆเสมอ"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว