พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ใช้สิทธิชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายไม่วางใจ กรณีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลยกเว้นภาษีแก่บริษัทอาลีบาบาและยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีว่า เป็นการให้สิทธิประโยชน์เฉพาะกิจการที่มีการกระจายสินค้าทันสมัยในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เท่านั้น และมีข้อตกลงที่ทางอาลีบาบาต้องมีการพัฒนาบุคลากร และพัฒนาระบบแพลตฟอร์มไทยให้มีประสิทธิภาพเหมือนกับของอาลีบาบา ซึ่งในส่วนของกิจการไทยก็สามารถนำสินค้ามาขายในไทยเทรดดอตคอมที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการจ้างงานในปี 63 ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นว่า แนวโน้มในปีนี้ยังไม่เป็นที่กังวลมากนัก เมื่อเทียบกับอัตราว่างงานในปี 62 โดยในปี 63 มีผู้ว่างงานประมาณ 3.8 แสนคน รัฐบาลได้พยายามดูแลคนกลุ่มนี้ มีการพัฒนาและหางานให้ โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบอยู่ และกระทรวงแรงงานยังมีตำแหน่งว่างงาน 34,626 อัตรา ต้องไปดูที่ว่างงานตรงความต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ตรงให้ฝึกเรียนหลักสูตรระยะสั้นจะได้รับเข้าทำงานได้ วันนี้เรามีการเสริมสร้างฝึกทักษะแรงงานใหม่ให้ทำงานได้ด้วย
ขณะที่ประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายการบริหารงานด้านเศรษฐกิจนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนั้น รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เข้าไปแก้ไข ถึงแม้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงแต่ยังทรงตัว ถ้าเป็นข้อมูลย้อนหลังแต่ปี 51 หลายรัฐบาลมากราฟต่ำเตี้ยมาตลอดและมาดีขึ้นตอนปลายๆ ซึ่งก็ไม่รู้รัฐบาลไหนเหมือนกัน ไม่อยากไปกล่าวอ้างตรงนั้น
ถึงแม้ว่าวันนี้หนี้ครัวเรือนจะทรงตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการสะสมสินทรัพย์ แต่รัฐบาลให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาในส่วนของหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล ส่วนนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่า เราจะอยู่กันได้อย่างไร เศรษฐกิจพอเพียงอยู่ตรงไหน ใช้เงินมีเหตุมีผลพอประมาณ ที่บางครั้งบอกว่าเศรษฐกิจล้มก็ต้องไปดูว่าจะต้องลงทุนขนาดไหน บางครั้งก็ใช้การลงทุนมากเกินกำลังตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาตามมา
เมื่อเทียบหนี้ครัวเรือนของไทยกับต่างประเทศจะพบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 79% แต่ของเกาหลีใต้ แคนดานา ยูโรโซน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมากกว่า 95% ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนของต่างประเทศสูง เพราะมีการพัฒนาสูง รายได้ประเทศมาก และมีกำลังในการชำระหนี้
ส่วนเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับตนและพวกพ้องนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพบปะกับนักธุรกิจเป็นการพบปะอย่างเปิดเผย แต่หากไม่มีรูปกับใครถือว่าเป็นการพบปะที่ไม่ปกติมากกว่า และตนเองก็ไม่ต้องการจะทะเลาะกับใคร
"ผมเห็นหลายท่านเอารูปผมถ่ายรูปกับคนนั้นคนนี้ 24 ตระกูล หายไปตระกูลหนึ่งครับ หายไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ ตระกูลนี้ 25 คนที่รวยผิดปกติหรือไม่ แต่ตระกูลที่ทำถูกกฏหมายก็ยังอยู่ได้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทุกคนมีรายได้ สามารถซื้อของใช้จำเป็นและไม่ใช่ซื้อเฉพาะร้านธงฟ้าเท่านั้น มีการปลดล็อคร้านค้าโชว์ห่วยซึ่งจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย จากในอดีตที่ร้านค้าเหล่านี้ขายสินค้าได้น้อยจนต้องปิดกิจการ แต่เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น ร้านค้าโชว์ห่วยเล็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการก็สามารถขายสินค้าได้เพิ่มเติม
ปัจจุบัน มีร้านธงฟ้าประชารัฐ 86,784 ร้านค้าทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านคน และการใช้จ่ายผ่านร้านค้าปลีก เช่น Big C หรือ Lotus และเซเว่นอีเลฟเว่น มีสัดส่วนต่ำมาก เฉลี่ย 0.03% ส่วนมาตรการชิม ช้อป ใช้ ประชาชนได้รับประโยชน์ มีทั้งรายได้หมุนเวียน แรงงาน ค่าจ้าง โดยมีการประเมินข้อมูลถึงวันที่ 26 ม.ค.63 ประชาชนได้รับสิทธิรวมทั้งหมด 14 ล้านคน มียอดการใช้สิทธิ 11 ล้านราย มียอดใช้จ่ายทั้งหมด 28,493 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมดกว่า 176,000 ร้าน
ส่วนประเด็นที่กล่าวถึงเศรษฐกิจถอดถอย และจีนเปิดร้านค้าออนไลน์ในไทยอย่างเสรีส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีขาดทุน เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวตามกลไกตลาดให้อยู่รอดได้ หรือแข่งขันกับทุนใหญ่ไม่ได้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางให้การอบรมเรียนรู้กับผู้ประกอบการ แต่ถ้าให้แบบเดิมก็เหมือนยาชาหรือยาพิษ จึงต้องมีการพัฒนาร่วมกันและปฏิรูป ร้านค้าปลีก ร้านค้าย่อย เอสเอ็มอี ซึ่งวันนี้ตลาดออนไลน์พัฒนามากขึ้น ทั้งสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กองทุนชุมชน กองทุนประชาชน แต่ยังไปไม่ทั่วถึง เพราะที่ผ่านมายังทำได้ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องขึ้นทะเบียนจึงจะสามารถใช้เงินกองทุนช่วยเหลือที่มีวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทได้ แต่ปัจจุบันเข้ามาขึ้นทะเบียนเพียง 1 ล้านราย จากทั้งหมดกว่า 3 ล้านราย ส่วนการลงทุนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมคนรวยถึงรวยมากขึ้นนั้น ต้องดูว่าเขารวยเพราะอะไร จากการลงทุน หรือจากการประกอบการที่ถูกกฎหมายหรือไม่
"ผมยืนยันว่า รัฐบาลผม ถ้าทำผิดกฎหมายแม้แต่นิดเดียวผมก็ไม่ยอม ผมไม่ให้ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย ผมสั่งใครไม่ได้ ผมรับผิดชอบไม่ได้ เป็นการอนุมัติ เป็นการเห็นชอบจากคณะกรรมการหลายหน่วยงานขึ้นมา ถ้าผมเป็นคนแบบนั้น มันคงอยู่ไม่ได้แบบนี้ ผมยืนยันในเรื่องของผมเองได้ และครม.ของผม และผมเชื่อมั่นในข้าราชการของผม การเอาเรื่องมาอ้าง ไม่เป็นธรรมกับผมมากนัก" นายกรัฐมนตรีระบุ
ส่วนเรื่องภาษีนั้น เห็นว่าจำเป็นต้องปรับปรุงระบบโครงสร้างภาษี แต่ไม่ได้ต้องการไปรีดภาษีจากใคร เพียงแต่ต้องช่วยกันเสียภาษี และทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบโครงสร้างภาษี
"ผมไปพบประชาชนที่เยาวราช เศรษฐี รวยแล้ว ผมถามเขาว่า ท่านไปรวยอะไรมา ถึงรวยขนาดนี้ เขาบอกว่า แต่ก่อนมาไม่มีเงินหรอกครับ เสื่อผืนหมอนใบ และขอบคุณคนไทยที่ให้ที่พักที่อยู่อาศัย คนไทยใจดี ทำให้เขามีกำลังใจในการสู้งาน แต่เขาสงสัยว่า ทำไมคนที่ให้ที่อยู่ที่กิน จนลงจนลงทุกวัน ซึ่งเราต้องทำให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ถูกกระตุ้นด้วยตัวของเขาเอง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องแก้ด้วยวิธีการและกฎหมาย ถ้าจะให้ใช้อำนาจของตน ตนไม่มีอำนาจขนาดนั้น ถ้ามีอำนาจขนาดนั้น ก็คงอยู่ไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงของเรื่องเสรีภาพด้วยว่า ไม่เคยบังคับเสรีภาพของใคร เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายด้วย
"บางช่วงเวลาจำเป็นในช่วงแรก ๆ ที่ผมเข้ามาก็จำเป็น ท่านก็เห็น ที่ผ่านมามีบทเรียน คนก็ไม่ชอบ การค้าขายไม่ได้ การมีเสรีภาพอย่างไร้ขีดจำกัดไม่ได้ต้องดูกฏหมายด้วย กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับเดียวไม่ได้ ต้องดูกฎหมายลูกอีกหลายพันฉบับ เช่น สิทธิการชุมนุมต้องไม่กระทบกับผู้อื่น ปัญหาจราจร การพูดให้เกิดความแตกแยก ขอให้ระมัดระวัง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว