ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำคุกนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพวก คนละ 2 ปี ในความผิดฐานร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 กรณีแจ้งความดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กล่าวหาสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
คดีนี้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต , พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200
คำฟ้องระบุว่า เมื่อเดือน ก.ค.54-13 ธ.ค.55 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดีกับโจทก์ทั้งสองในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมเพื่อขับไล่โจทก์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง เนื่องจาก นปช.ก่อความไม่สงบ ก่อการร้าย และโจทก์ได้มอบนโยบายชัดเจนว่าให้สลายการชุมนุมโดยหลีกเลี่ยงความสูญเสียเพื่อระงับความเสียหายของบ้านเมือง
เมื่อการชุมนุมยุติลง ดีเอสไอได้สอบสวนดำเนินคดีแกนนำกลุ่ม นปช.และชายชุดดำข้อหาก่อการร้ายด้วย ต่อมานายธาริต ยอมตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จำเลยทั้ง 4 จึงร่วมกันแจ้งข้อหาสั่งฆ่าประชาชน กลั่นแกล้งโจทก์สนองความต้องการของรัฐบาล ซึ่งดีเอสไอไม่มีอำนาจ เพราะโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย.61 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 โดยเห็นว่าพยานโจทก์ไม่เห็นว่าจำเลยที่ 1 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ในการแจ้งข้อกล่าวหา โดยการสอบสวนทำในรูปของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ มีจำเลยที่ 2-4 และอัยการเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งแต่งตั้งขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง (ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ปี 2553) และคณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เพราะต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อ อีกทั้งจำเลยทั้งสี่เป็นพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับอัยการที่ร่วมสอบ จึงไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้ง 2 ว่า จำเลยที่ 1-4 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งโจทก์เบิกความว่า การชุมนุมของ นปช.มีความรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยนายอภิสิทธิ์ ประกาศภาวะฉุกเฉิน ตั้งนายสุเทพ เป็น ผอ.ศอฉ. ให้ทหารปฏิบัติตามคำสั่งของ ผอ.ศอฉ.มีการปะทะกันระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มีชายชุดดำกองกำลังติดอาวุธ
เมื่อจำเลยกับดีเอสไอสืบสวนสอบสวนกรณีผู้ชุมนุมมีอาวุธเป็นคดีก่อการร้าย อัยการยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อมีการเปลี่ยนเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการตั้งแกนนำ นปช.เป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ดีเอสไอต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ แล้วหากมีมูลต้องส่งอัยการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป แต่จำเลยที่ 1-4 กลับเรียกโจทก์ทั้ง 2 ไปแจ้งข้อหาออกคำสั่งลับให้ใช้อาวุธขอคืนพื้นที่ ใช้ข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน เพื่อให้เห็นว่ามีแต่เจ้าหน้าที่มีอาวุธ พร้อมระบุกลุ่ม นปช.ชุมนุมโดยสงบไม่ใช้อาวุธ ทั้งที่โจทก์ปฏิบัติตามหน้าที่ราชการ จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ตามความต้องการของฝ่ายการเมือง ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ต่อเวลาวาระการทำงานของนายธาริต ออกไปอีก 1 ปี
ส่วนคดีที่กล่าวหาโจทก์ทั้ง 2 ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้วว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวนเรื่องนี้ เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. กระทั่งวันที่ 29 ก.ค.53 พวกจำเลยเห็นควรฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่ม นปช. กับพวกรวม 25 คน ในข้อหาก่อการร้าย และเห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้เกิดความสงบสุข จึงไม่เป็นความผิด แม้ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง เสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงรถตู้ของนายสมร ไหมทอง แต่คำสั่งศาลไม่มีข้อความชี้ว่าทหารปฏิบัติผิดแล้วโจทก์จะผิดไปด้วย
การที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี สั่งการจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยทั้ง 4 สอบสวนแจ้งข้อหาโจทก์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลนั้น อีกทั้งจำเลยทั้ง 4 ระบุ นปช.ชุมนุมโดยสงบตรงกันข้ามกับความเห็นเดิม เชื่อได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์เพื่อเอาใจรัฐบาลใหม่ ดังที่ ครม.มีมติให้ต่อวาระของจำเลยที่ 1
การที่โจทก์ที่ 1 ประกาศภาวะฉุกเฉิน โจทก์ที่ 2 ออกคำสั่งกระชับขอคืนพื้นที่ ได้กำหนดแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามสถานการณ์ ให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 บัญญัติไว้ชัดเจน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำผิดอาญาให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง หากมีมูลให้ส่งอัยการฟ้องคดีต่อศาล การที่ดีเอสไอสอบสวนและเรียกโจทก์ไปรับทราบข้อหา ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการกลั่นแกล้ง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้อง
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การใช้กระสุนจริงไม่ถูกต้องตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เห็นว่าแม้โจทก์ที่ 2 อนุญาตใช้กระสุนจริง แต่ไม่ได้อนุญาตให้ใช้กับผู้ชุมนุมโดยตรง ให้ใช้ระงับเหตุร้ายแรงเพื่อความสงบโดยด่วน มีอำนาจทำได้ ไม่เกินเลยอำนาจ พยานหลักฐานจำเลยไม่หักล้างพยานหลักฐานโจทก์ จำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับว่า จำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม), 200 วรรคสอง (เดิม) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 200 วรรคสอง (เดิม) จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 3 ปี คำเบิกความเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี
รายงานข่าว แจ้งว่า หลังฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จบแล่ว ญาติของจำเลยที่ 1-4 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ต่อมาศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 โดยตีราคาประกันคนละ 400,000 บาท และไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ