นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอให้รัฐบาลใช้ยาแรงสั่งปิดประเทศ 3-5 สัปดาห์เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสที่เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข หากไม่ใช้มาตรการที่เด็ดขาดหรือยาแรงจะส่งผลกระทบลุกลามให้เกิดวิกฤตด้านเศรษฐกิจที่ใหญ่มากเหมือนในอดีต เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยติดลบกว่า 10% หรือวิกฤตแฮมเบอเกอร์ที่ทำให้ติดลบ 9-10%
"ทีมเศรษฐกิจทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ อยากนำเสนอให้รัฐอัดยาแรงเพื่อนำพาคนไทยทุกคนผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้เช่นด้วยกัน แบบเจ็บแต่จบ อาจใช้เวลา 3-5 สัปดาห์ ทุกๆ อย่างก็น่าจะผ่านไปได้แน่นอน"นายปริญญ์ กล่าว
ทั้งนี้ ทีมเศรษฐกิจทันสมัยฯ ขอเสนอ 3 มาตรการในการแก้ปัญหาครั้งนี้ ได้แก่
1.มาตรการด้านสาธารณสุข รัฐบาลควรจำกัดการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ หรือการปิดประเทศ เนื่องจากหลายๆ หน่วยงาน รวมทั้งประชาชนเองก็เรียกร้องให้ทำเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ เพื่อระงับยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมีระบบ อาจสร้างความสูญเสียระยะสั้น แต่ถือว่าเจ็บแต่จบ และจะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างดีที่สุด
และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือคนไทยต้องได้รับตรวจไวรัสโควิด-19 ฟรีทุกคน โดยเฉพาะทัพหน้าหรือผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง เช่น หมอ พยาบาล หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข ควรมีประกันสุขภาพที่ดีเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ซึ่งงบกลางกว่า 7 หมื่นล้านบาทของไทยมีเพียงพอให้กับทัพหน้าทั้งหลายให้ได้ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถในยามวิกฤตครั้งนี้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรใช้กลไกที่มีอยู่สร้างทักษะสมรรถนะให้กับแรงงานผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมหลังจากผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้โดยเร็ว โดยเตรียมความพร้อมสร้างแรงงานคุณภาพให้มีมีทักษะต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้อย่างดีและมั่นคง ซึ่งสามารถทำได้ในสถานการณ์ที่หลาย ๆ คนอาจจะว่างงานให้เขาได้เรียนรู้เพิ่มเติม ถือเป็นการลงทุนของรัฐบาลในระยะสั้น แต่สร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาวได้
"สถานการณ์ขณะนี้สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น รวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเชื่อมั่นในขณะนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ภาคเอกชนและประชาชนรับยาแรงได้ เขาพร้อมหากรัฐบาลออกมาตรการจำกัดการเดินทาง จะเรียกว่าปิดประเทศก็ได้ จนมีคนออกมาเรียกร้องว่าปิดช้าไปหรือเปล่า ยอมเจ็บแล้วจบครับ" นายปริญญ์ กล่าว
2.มาตรการด้านเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อให้ไม่เกิดการสะดุดหรือหยุดชะงักไปมากกว่านี้ จึงจำเป็นที่นโยบายด้านการเงินและนโยบายด้านการคลังต้องเดินไปพร้อมกัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลดดอกเบี้ยมาอยู่ระดับต่ำสุดที่ 1% และยังสามารถลดได้อีก 0.5% และสิ่งที่ ธปท.ทำได้อีก คือเจรจาขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ให้ลดดอกเบี้ย หรือพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับ SMEs อย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็พร้อมให้ความร่วมมือ
3.มาตรการด้านค่าครองชีพ กระทรวงการคลังต้องฉีดวัคซีนแรงโดยลดภาษีให้นิติบุคคลลงอีก 5-10% เพียงเฉพาะปีนี้เท่านั้น ทางด้านพลังงาน รัฐต้องลดหรือยกเว้นการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราวเพื่อช่วยลดราคาน้ำมัน และที่สำคัญเสนอให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบัน 7% ลดลงอีก 1%
"ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่ต้องมากังวลเรื่องการเติบโตหรือการหดตัวเชิงปริมาณที่เป็นตัวเลขของจีดีพี ตอนนี้เป็นเวลาที่รัฐต้องใช้ศักยภาพที่มี ใช้ทรัพยากรที่มีให้โฟกัสให้ถูกจุด ผมคิดว่ามาตรการด้านสาธารณสุขตอนนี้ยังไม่แรงพอและยังไม่เหมาะสมพอกับสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่ระยะ 3"นายปริญญ์ กล่าว