นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดียุบพรรคชาติไทย(ชท.)และพรรคมัชฌิมาธิปไตย(มฌ.) ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุว่า ประเด็นการกระทำผิดของกฎหมายเลือกตั้งของสมาชิกพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรค จะเกี่ยวโยงถึงขั้นยุบพรรคการเมืองนั้นๆ หรือไม่นั้น ตามหลักการพิจารณาจะต้องดูว่าคณะกรรมการบริหารพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร และมีการห้ามปรามหรือบอกกล่าวไม่ให้กระทำผิดหรือไม่
"ในพ.ร.บ.เขียนชัดเจนว่าถ้ากรรมการบริหารพรรครู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยทำให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิชอบ เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ทั้งการไม่ดูแลหรือรู้เห็นเป็นใจหรือยุยงหรือสนับสนุนให้กระทำผิด ซึ่งการไม่ดูแล คือ มีการประชุม หรือบอกกล่าวหรือไม่ ให้ช่วยดูแลไม่ให้มีการซื้อสิทธิขายเสียง มีการประชุมห้ามปรามกันหรือไม่ มีการออกหนังสือแจ้งลูกพรรคหรือไม่"นายธนพิชญ์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุเช้านี้
อย่างไรก็ตาม นายธนพิชญ์ ปฏิเสธที่จะเปิดเผยมติของอนุกรรมการฯ ในคดียุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่เตรียมนำเสนอให้กกต.พิจารณา โดยกล่าวเพียงว่ามติเป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 0 ส่วนจะเป็นอย่างที่มีกระแสข่าวว่ามีมติว่าการกระทำของกรรมการบริหารทั้งสองพรรคเป็นการกระทำส่วนบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับพรรคหรือไม่นั้น นายธนพิชญ์ ระบุว่า ขอให้เป็นเรื่องที่ กกต.จะเป็นผู้แถลงเอง
สำหรับการพิจารณาคดีของพรรคการเมืองทั้งสองจะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับกรณีอื่น ๆ โดยเฉพาะกรณีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนหรือไม่นั้น นายธนพิชญ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องก็ไม่เหมือนกัน อย่างกรณีของพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาฯ ก็มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน จึงต้องพิจารณเป็นรายกรณีไป
"พรรคการเมืองประกอบด้วยประชาชนทั่วประเทศที่ดำรงเป็นพรรคการเมือง ถ้าจะมองที่ตัวบุคคลจะต้องดูให้ละเอียดว่าเขากระทำการแค่ไหนถึงจะนำไปสู่การยุบพรรค"นายธนพิชญ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--