นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีกล่าวหาสมาชิกพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกักตุนและการส่งออกหน้ากากอนามัยที่มีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธาน จะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 23 มี.ค.นี้ เวลา 13.00 น.
"พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้เราได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ รวมทั้งคลิปที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำมากล่าวหา และคำชี้แจงของนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะนำไปพิจารณาด้วย ถ้านายอัจฉริยะมีข้อมูลขอให้ส่งมาให้คณะกรรมการฯดำเนินการ เพราะเราจริงจังในเรื่องนี้ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องดำเนินการให้ได้ข้อยุติเร็วที่สุดตามคำสั่งของหัวหน้าพรรคที่ระบุว่าให้รายงานผลการตรวจสอบให้ทราบโดยเร็ว" นายราเมศ กล่าว
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมให้มีการตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่กระบวนการตรวจสอบต้องฟังข้อเท็จจริงทำอย่างตรงไปตรงมา
ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเรียกบุคคลต่างๆ เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ทางพรรคไม่มีความกังวล และพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การที่ตนเองได้ยื่นหนังสือต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรค ให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนสมาชิกพรรคที่ถูกข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากอนามัย และขอให้สมาชิกพรรคผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลาออกนั้นเป็นไปตามหลักการและจุดยืนของพรรคที่เคยปฏิบัติกันมา เมื่อมีสมาชิกพรรคผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต เช่น เมื่อครั้งที่นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกข้อกล่าวหาไม่เกิน 7 วันก็ลาออกจากตำแหน่ง, นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ถูกข้อกล่าวหาไม่เกิน 5 วันก็พิจารณาตัวเองลาออก, นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้เพียง 2 วันก็ลาออกจากตำแหน่งทั้งๆ ที่ได้รับเลือกจากประชาชนเกิน 1 ล้านคะแนน ทำงานได้แค่ 6 เดือนเท่านั้น
นายเทพไท กล่าวว่า การลาออกจากตำแหน่งระหว่างการสอบข้อเท็จเป็นความสง่างาม เมื่อสอบข้อเท็จจริงแล้วไม่พบความผิดก็สามารถกลับมารับตำแหน่งเดิมได้อีก เพราะตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีเป็นเพียงตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยมติ ครม.ซึ่งต่างกับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องได้รับโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ปฎิญานก่อนเข้ารับตำแหน่ง
นายเทพไท กล่าวว่า ตนขอทำหน้าที่พิทักษ์อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ 10 ข้อ และเงื่อนไข 3 ข้อในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 3 เรื่องการทุจริต จะต้องบังคับใช้กับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้กับพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด
"เรื่องนี้ไม่ใช่ขบวนการเลื่อยขาเก้าอี้รัฐมนตรีคนใด เพราะข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีเท่านั้น และบรรยากาศในขณะนี้ยังไม่มีวี่แววการปรับ ครม.เลย สำหรับผมได้ประกาศมาโดยตลอดว่าจะไม่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้อย่างเด็ดขาด" นายเทพไท กล่าว