นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวให้กำลังใจชาวเหนือที่นอกจากต้องกักตัวหนี Covid 19 แล้ว ยังต้องอดทนต่อสภาพอากาศระดับวิกฤตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยได้อ้างถึงคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 เมษายน ให้หน่วยงานต่างๆ กำจัดจุด hotspot ให้หมดภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งก็หมายถึงวันที่ 5 แต่ภาพที่เห็นในปัจจุบัน จะเห็นว่า hotspot ยังมีอยู่ทั่วภาคเหนือ ส่งผลให้คุณภาพอากาศของชาวเหนืออยู่ในระดับวิกฤตต่อเนื่อง คำสั่งของท่านนายกฯ ยังไม่ส่งผลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายกรณ์ ได้หยิบยกคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึง ปี 2563 พร้อมระบุว่า ในทางปฏิบัติไม่ส่งผลลัพธ์ให้ชาวเหนือมีอากาศที่ดีขึ้นเลย
โดยปี 2558 "วันนี้ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันในการเฝ้าระวัง จะทำเกิดผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า เผาเศษวัสดุ อยากให้ทุกช่วยกัน มีมาตรการทางสังคมของตนเองด้วย เพราะว่ารัฐทำคนเดียวไม่ได้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อบต. อบจ. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ไปกำหนดมาตรการป้องกันระยะยาวให้ได้ บรรเทาไฟป่าอย่างยั่งยืน เกิดทุกปีแก้ปัญหาทุกปี ผมว่ารับไม่ได้แล้วต่อไปนี้" นายกรัฐมนตรี
ปี 2559 "เพื่อไม่ให้ปัญหาหมอกควันที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วง ม.ค. – เม.ย. มีความรุนแรงมากเกินไปจนเข้าสู่ขั้นวิกฤต จึงขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ระยะสั้นของตนเอง พร้อมทั้งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามแผนงาน ควบคุมดูแล และบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด" นายกรัฐมนตรี
ปี 2562 "นายกฯ ติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่ามีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในระดับสูงจนอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงจะไปรับฟังข้อมูลการดำเนินงานด้วยตนเอง พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และสนับสนุนสิ่งจำเป็นต่างๆ หากพบข้อติดขัดในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายโดยเร็วที่สุด" รองโฆษกรัฐบาล
ปี 2563 "นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานสนธิกำลังกัน เร่งเข้าควบคุมและดับไฟอย่างเต็มที่ และเฝ้าระวังการเกิดไฟในพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติหมอกควันที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน" โฆษกรัฐบาล
จากทั้งหมดนี้ ผมขอเสนอแนะต่อท่านนายกฯ ว่าควรต้องรื้อระบบการทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้ทั้งหมด สิ่งที่ชัดเจนจากหลักฐานคุณภาพอากาศที่ปรากฎ คือระบบการแก้ปัญหาในปัจจุบันล้มเหลวอย่างมาก ซึ่งหากทำซ้ำๆ ก็จะได้ผลซ้ำๆ นั่นคือไม่ได้ผลสำเร็จที่แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
นายกรณ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากภาครัฐ เป็นหนึ่งเดียว ระดมสรรพกำลังคิด และกำลังพล ย่อมจะขจัดปัญหาไฟป่าภาคเหนือ และปัญหาคุณภาพอากาศให้สูญสิ้นไปได้ โดย 1. ผู้ดูแลพื้นที่ป่าโดยตรง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมต รมช) , กรมป่าไม้ (อธิบดี) ,กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อธิบดี) ,กรมควบคุมมลพิษ (อธิบดี)
2. ผู้ดูแลอาณาประชาราษฎร์ พื้นที่ทางการปกครอง ซึ่งเขตแดนทุกตารางนิ้วในประเทศไทยมีหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดปกครองดูแล (ทับซ้อนทุกตารางนิ้วพื้นที่ป่าไม้) กระทรวงมหาดไทย (รมต รมช) , กรมการปกครอง (ผวจ นายอำเภอ กำนัน ผญบ) ,กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (นายก อบจ, นายก อบต, นายกเทศมนตรี) ,กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อธิบดี)
3. ผู้พิทักษ์ราษฎรบังคับใช้กฎหมายทั่วราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้บัญชาการ) ,ส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด) , ส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (ตำรวจภูธร ภาค 5 (ภ.5)
4. ผู้เสริมกำลังชาติยามวิกฤต กระทรวงกลาโหม (รมต รมช) ,กองทัพบก (ผู้บัญชาการ) ,กองทัพภาคที่ 3 (แม่ทัพ) และ 5. ผู้เจรจาสนับสนุนความร่วมมือต่างประเทศ (ฝุ่นควันข้ามแดน) , กระทรวงการต่างประเทศ (รมต รมช) ,กรมอาเซียน (อธิบดี) ,กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (อธีบดี) ,กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (อธีบดี) ,กรมองค์การระหว่างประเทศ (อธิบดี) ,กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (อธีบดี)
"รวมทั้งสิ้น 5 กระทรวง/สำนัก 15 กรม/กอง นอกจากนี้ยังมีภาคการเมือง ผู้เป็นตัวแทนประชาชน และอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ ควรที่จะมีส่วนร่วมด้วยอย่างเข้มข้นครับ ขอขอบคุณข้อมูลจากกลุ่มแก้ไขฝุ่นควันภาคเหนือ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ภาคสนาม รวมไปถึงกลุ่มอาสาสมัครทุกกลุ่ม ทุกท่านที่ได้ช่วยกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและดูแลประชาชนในยามวิกฤตนี้ด้วยครับ" นายกรณ์ กล่าว