นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ตามขั้นตอนแล้วจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)กับรัฐบาล ซึ่งจุดนี้อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตที่จะมีประชาชนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญของคมช. และจะยิ่งสร้างความแตกแยกให้กับสังคมมากขึ้น
พร้อมเห็นว่า ส.ส.ร.ยังประมาทไม่ได้ เพราะหากไม่สามารถทำความเข้าใจสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบ อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและกลับไปเชื่อฝ่ายที่ต่อต้าน โดยเฉพาะที่ห่วงมากคือกลุ่มทุนที่สามารถใช้เงินเพื่อต้านรัฐธรรมนูญได้
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมาธิการประสานการมีส่วนร่วม แสดงความกังวลในกรณีที่กลุ่มอำนาจเก่าจะใช้เงินซื้อประชาชนที่เป็นกลุ่มคลื่นใต้น้ำเพื่อให้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"ถ้ามีผู้ใช้สิทธิประมาณ 40-50 ล้านคน จะมาใช้สิทธิอย่างสูง 20 ล้านคน หากมีเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเท่ากัน 10 ล้าน เราอยู่ในฐานะลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีเงิน ใช้คลื่นใต้น้ำ หากเขาจ่ายคนละ 100-300 บาท จำนวน 10 ล้านคน อาจต้องใช้ 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับเงินที่เขาซุก หรือถูกคตส.อายัดทรัพย์"นายเจิมศักดิ์ กล่าว
แต่ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ผ่านประชามติ ก็เชื่อว่าจากนี้ไปประเทศไทยจะไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญอีก และไม่ห่วงกรณีที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและอดีตพรรคการเมืองใหญ่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะกลับจะยิ่งทำให้ประชาชนสนใจรัฐธรรมนูญมากขึ้น
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส.ส.ร.ต้องเชื่อมั่นก่อนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีจริง เพราะถ้าไม่เชื่อมั่นก็ไม่สามารถอธิบายกับประชาชนได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีกว่าฉบับปี 40 โดยเฉพาะจุดเด่นที่สุดคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
"ผมเชื่อว่า ประชามติผ่านพันเปอร์เซ็นต์ แต่ผมไม่อยากให้พวกเราประมาท อยากให้ ส.ส.ร.ใช้เวลานี้ในการพัฒนาประเทศปี 50 จะบันทึกว่าเราจะช่วยรณรงค์ให้ตื่นตัว เติบโตทางการเมืองอย่างก้าวกระโดดในสังคมไทย" นายสมคิด กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--