COVID-19เพื่อไทยจี้รัฐบาลลดงบไม่จำเป็นก่อนกู้เงิน-วอนผ่อนปรนให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติเร็วที่สุด

ข่าวการเมือง Tuesday April 14, 2020 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์ชี้แจงในนามพรรคฯ เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินและการคลังกว่า 1.9 ล้านล้าน ต้องเยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเกษตรกรต้องได้รับเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 35,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ต้องได้รับความช่วยเหลือทั้งมาตรการภาษีและเงินกู้ พร้อมเสนอตั้งกรรมการตรวจสอบการบริหารเงินกู้และรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทุก 3 เดือน

"พรรคเพื่อไทยเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน ทั้งด้านการสาธารณสุข เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตอันเป็นปกติของมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งระบบดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกระทำด้วยวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับผิดชอบตามหลักการการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ประธานยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคฝ่ายค้านเสนอให้รัฐบาลแสดงความพยายามปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นในปีงบประมาณ 63 ลงก่อน ซึ่งคาดว่าหากยอมปรับลดงบที่ไม่จำเป็นลงประมาณ 10-15% จะทำให้มีเงินงบประมาณมาใช้แก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ราว 5 แสนล้านบาท เหลือความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพียง 5 แสนล้านบาท ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 64 ก็ต้องทบทวนเพื่อตัดงบที่ไม่จำเป็นทิ้งไปจะทำให้ได้งบสนับสนุนเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง

"หากรัฐบาลไม่สามารถปรับลดงบประมาณฯ ได้ตามเป้าหมาย 5 แสนล้านบาทก็ควรมีคำอธิบายต่อพี่น้องประชาชนว่าได้พยายามในการปรับลดแล้วอย่างไรบ้าง ติดขัดที่ตรงไหน และมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร รวมถึงสรุปให้เห็นชัดเจนว่าสามารถลดวงเงินจากการกู้ 1 ล้านล้านบาท ได้มากที่สุดเท่าใด เพราะเหตุใด" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ประธานยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า การใช้งบประมาณกว่า 1.9 ล้านล้านบาท จะต้องเกิดประสิทธิผลสูงสุด ทั้งด้านการดูแล เยียวยาประชาชน การดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุข การดูแลธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และการลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งปัจจุบันและในอนาคต อยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส และตรวจสอบได้

พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอหลัก 4 ประการที่เคยเสนอไปแล้ว ได้แก่ 1.ช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยารายละ 5,000 บาทอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ต้องรวมถึงเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งจากโรคระบาดและภัยแล้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ สำหรับเกษตรกรนั้นเสนอให้เยียวยาครอบครัวละ 35,000 บาท เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนทั้งจากภัยโควิดและภัยแล้ง

พร้อมกันนั้น รัฐบาลต้องจัดสรรเงินอย่างเพียงพอและทั่วถึง เพื่อจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อหยุดการแพร่ระบาด การรักษาผู้เจ็บป่วย และการป้องกันทั้ง ประชาชนและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจากเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยไม่ปล่อยให้ขาดแคลนอุปกรณ์ หรือมีการกักตุน โก่งราคาสินค้า ดังเช่นที่เกิดขึ้นตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ประการต่อมาคือ สนับสนุนสินเชื่อหรือยกเว้นภาษีเกี่ยวกับการนำเข้าเพื่อลงทุนเกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ที่ปลอดภัยจากไวรัส เช่น เครื่องปรับอากาศ ฆ่าเชื้อ เป็นต้น รวมทั้งการจัดอบรมบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการ (Service Industry) ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่มีทั้งสถานที่และการบริการที่ปลอดภัยจากไวรัส ทำให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศในอนาคต มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

สำหรับ SMEs นั้นกว่า 90% รัฐต้องช่วยให้เข้าถึงเงินกู้ที่มีรายได้มากกว่า 25 ล้านบาทต่อปี ควรเน้นไปที่มาตรการด้านภาษี ความสะดวกหรือสิทธิพิเศษในการส่งออกหรือนำเข้า และการตลาด ส่วน SMEs ที่มีรายได้ 100,000-10,000,000 ล้านบาท ควรเน้นมาตรการทางภาษี แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และการตลาด ด้าน SMEs ในต่างจังหวัดนั้น ใช้งบผู้ว่าราชการจังหวัด 20 ล้านบาท ดูแลได้ทันทีและควรมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ ดู SMEs ต่างจังหวัดอย่างรอบด้านเพราะผู้ว่าฯ มีข้อมูล SMEs ในจังหวัดของตนเองครบถ้วนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของประเทศว่า วิสาหกิจที่จะพลิกฟื้นและเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสอย่างรวดเร็วได้นั้นจะต้องเน้นที่พื้นฐานอันจำเป็นของชีวิตเป็นเบื้องต้น เช่น อาหาร สุขภาพ ยารักษาโรค ทั้งแบบสมัยใหม่และแบบสมุนไพร วัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการสาธารณสุข

ส่วนการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินวงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยจัดตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่องตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) เพื่อซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพที่ดีครบกำหนดชำระในช่วงปี พ.ศ.2563-2564 นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ธปท.ไม่ควรเป็นผู้ให้กู้โดยตรงกับภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อรักษาหลักการของการเป็นธนาคารกลางของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือไว้ จึงควรให้ธนาคารพาณิชย์รับซื้อแล้วจึงนำมาเป็นหลักประกันเพื่อกู้เงินต่อ ธปท.ในฐานะผู้ให้กู้รายสุดท้าย (Lender of last resort) หาก ธปท.เข้าไปดำเนินการเสียเองตั้งแต่ต้นอาจจะถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย หรือเลือกปฏิบัติได้ อันจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ และต่อ ธปท.

ประธานยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีแนวทางและมาตรการการใช้เงินกู้อย่างโปร่งใส มีประสิทธิผลและตรวจสอบได้ โดยตั้งคณะกรรมการที่ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อตรวจสอบแนวทางการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ จากนั้นต้องรายงานการใช้เงินให้สภาผู้แทนราษฏรทราบเพื่อการตรวจสอบทุก 3 เดือน รวมถึงการกำหนดแนวทางหรือมาตรการ และระยะเวลาที่จะชำระคืนเงินกู้จนครบถ้วน

นอกจากนี้ รัฐบาลควรผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนได้กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันตามปกติโดยเร็วที่สุดบนพื้นฐานของความปลอดภัยของทุกฝ่ายด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการจัดลำดับความสำคัญให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ประสงค์จะดำเนินกิจการได้รับการตรวจเพื่อให้เป็นผู้ปลอดเชื้อ รวมทั้งมีอุปกรณ์และมาตรการป้องกันผู้มาใช้บริการเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันอย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกของการผ่อนปรน รัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า หากเกิดการเจ็บป่วยด้วยไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจะสามารถดูแลรักษาได้ทั่วถึง โดยได้จัดสรรงบประมาณที่จำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขอย่างเพียงพอ

"การกู้เงินและใช้จ่ายเงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาทนั้นถือเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินซึ่งจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 140 พรรคเพื่อไทยจึงขอให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป"คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ