นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นถือเป็นเรื่องที่ดีที่สมาชิกผู้แทนราษฎรมีความห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชน และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่การขอเปิดประชุมฯ สมัยวิสามัญนั้นไม่ใช่อำนาจของประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องเข้าชื่อกัน 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา หรือรัฐบาลเล็งเห็นว่ามีความจำเป็นตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังต้องศึกษากระบวนการเสนอร่าง พ.ร.บ.โดยละเอียด เนื่องจากในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดไว้ว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง หรือทำประชาพิจารณ์เสียก่อน ซึ่งเท่าที่ติดตามขณะนี้กระบวนการของรัฐบาลยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว เพราะขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ยังไม่ได้มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา และคาดว่าจะดำเนินกระบวนการต่างๆ แล้วเสร็จช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่จะมีการเปิดประชุมฯ สมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.63 อยู่แล้ว
ส่วนการเสนอร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับของรัฐบาลในการแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน และอยู่ในอำนาจของรัฐบาล ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ จากนั้นก็ต้องมาพิจารณาตามมาตรา 172 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดว่า ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไปให้ ครม.เสนอ พ.ร.ก.นั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า ครม.ต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โดยเร็ว ซึ่งต้องดูว่าภายหลัง พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้แล้วจะถือเป็นการชักช้าหรือไม่ หากจะนำไปพิจารณาในช่วงเปิดประชุมสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.นี้
นายสุชาติ กล่าวว่า หากมีความจำเป็นเร่งด่วนรัฐสภาก็มีความพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ โดยขณะนี้ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยจากการแพร่กระจายของไวรัส และคัดกรองบุคคลผู้ที่เดินทางเข้าออกอาคารรัฐสภา ทั้งในกรณีที่ไม่มีการประชุม หรือการประชุมคณะกรรมาธิการ ตลอดจนการประชุมสมัยวิสามัญ หรือสมัยสามัญในช่วงเดือน พ.ค.ไว้แล้ว เพื่อให้การทำงานของรัฐสภาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หากสถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย