(เพิ่มเติม) นักวิชาการมองกระแสคว่ำรธน.ยังไร้พลัง แต่เนื้อหาอาจเป็นตัวแปรสำคัญ

ข่าวการเมือง Monday July 2, 2007 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิชาการ ประเมินรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีโอกาสผ่านประชามติสูง คนส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาค่อนข้างมากกว่าที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการทำรัฐประหาร ขณะที่กระแสคว่ำยังไม่แข็งแรงและมีพลังเพียงพอ หากระยะต่อจากนี้ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ มาพลิกผันสถานการณ์ 
ส่วนสาระในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มา ส.ว.ให้มาจากการสรรหา, การคงอำนาจองค์กรอิสระชุดเดิมให้ทำหน้าที่ครบวาระ และการไม่บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นความเสี่ยงในแง่เนื้อหาที่อาจทำให้มีการลงประชามติไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่การรณรงค์สนับสนุนหรือต่อต้านรัฐธรรมนูญ รวมทั้งความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงประชามติรับหรือไม่รับ
รวมทั้งจุดอ่อนที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาจากการยึดอำนาจ แต่ความหวั่นเกรงที่จะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)หยิบยกชึ้นมาแทน อาจเป็นแรงกดดันต่อการลงประชามติ
**ประเมินรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านประชามติ ถ้าไม่มีตัวแปรพลิกผัน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้เชื่อว่าจะยังไม่มีเหตุการณ์ใดเป็นตัวแปรที่รุนแรงพอจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านประชามติ
"ณ วันนี้ ผมคิดว่าน่าจะผ่าน(การทำประชามติ) เพราะประเด็นของการร่วมมือกันและกลายเป็นแนวร่วมใหญ่ขึ้นมานั้น มันยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะสถานการณ์จากนี้ไปอีก 2 เดือนก่อนลงประชามติ ก็มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นได้"นายสมชัย กล่าว
แต่ตัวแปรสำคัญที่สุดในช่วง 2 เดือนก่อนการลงประชามติ คือ การชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมต่างๆ ที่อยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาล และ คมช. เช่น กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.), กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ, กลุ่มพิราบขาว, สมาพันธ์ประชาธิปไตย เป็นต้น เพราะกลุ่มดังกล่าวมีอิทธิพลทางความคิดและสามารถทำให้ประชาชนคล้อยตามด้วยการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
"ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือการชุมนุมของกลุ่มที่ตรงข้ามกับรัฐบาล เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีปากมีเสียงและสามารถเสนอความเห็นต่อสังคมในทิศทางตรงกันข้ามกับรัฐบาลได้มากที่สุด ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ ถ้าสามารถหยิบยกประเด็นบางอย่างขึ้นมาแล้วทำให้ประชาชนคล้อยตามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งสืบทอดอำนาจให้คมช."นายสมชัย กล่าว
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์จากปัจจัยต่างๆ ที่ปรากฎในขณะนี้ เชื่อว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านการลงประชามติมีมากกว่าไม่ผ่าน เพราะกระแสคว่ำรัฐธรรมนูญยังมีน้ำหนักน้อย และคนส่วนใหญ่ยังขอรอดูหน้าตาและบทสรุปของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วนก่อน อีกทั้งเชื่อว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยมาปรับแก้ในภายหลังจะช่วยบรรเทาปัญหาความวุ่นวานทางการเมืองได้
"กระแสเรียกร้องคว่ำรัฐธรรมนูญตอนนี้น้ำหนักน้อย ลำพังที่มาซึ่งไม่ชอบอย่างเดียวก็พอแล้ว แต่ขอดูเนื้อหาให้เสร็จก่อน แล้วค่อยว่ากันว่าจะรับหรือไม่รับ คือคนไม่ได้ดูแค่ที่มา แต่ดูเนื้อหาด้วย ผมคิดว่าคนส่วนมากรอดูมากกว่าว่าเนื้อหาจะออกมาอย่างไร แล้วถึงจะรับหรือไม่รับ" นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวว่าต้องไม่ตัดประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นได้ เพราะหากกระแสการต่อต้านคมช.รุนแรงขึ้น กระแสโค่นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะมากขึ้นตาม
**เนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ-ชุมนุมการเมือง ตัวแปรลงประชามติ
นายสมชัย กล่าวว่า 3 ปัจจัยหลักที่เป็นตัวแปรสำคัญอันจะมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านหรือไม่ผ่านการลงประชามติ คือ เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญใหม่ในบางมาตรา, การรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของกลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการที่เริ่มเป็นระบบและรุนแรงมากขึ้น และ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่า
สำหรับการรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ขณะนี้กลุ่มนักศึกษา และนักวิชาการ ตลอดจน NGO หลายกลุ่มต่างทยอยออกมารณรงค์ไม่ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยชี้ประเด็นหลักคือที่มาของรัฐธรรมนูญที่มีจุดเริ่มต้นจากการทำปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ซึ่งพบว่าเครือข่ายของกลุ่มดังกล่าวเริ่มมีการรณรงค์อย่างรุนแรงและเป็นระบบมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการจัดเวทีปราศรัย หรือการแจกแผ่นพับใบปลิวต่างๆ
นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่าที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ก็พยายามออกมาเคลื่อนไหวด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนคล้อยตามและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ด้านนายปริญญา กล่าวว่า ปัจจัยที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านประชามติหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระของมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญใหม่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองประกอบกันด้วย
เนื่องจาก มีฝ่ายที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาโดยมิชอบ กล่าวคือมาจากการยึดอำนาจของ คมช. อีกทั้งผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ก็ไม่ได้มาจากกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย จึงมีการตั้งป้อมที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น โดยไม่ได้สนใจที่เนื้อหาเป็นหลัก และต้องการผลักดันให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 กลับมาใช้
"ปัจจัยที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาข้างในแต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองด้วย เพราะมีคนจำนวนมากตั้งหลักมาแล้วว่าจะไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะที่มามันไม่ชอบ เขาอยากให้เอาฉบับปี 40 กลับมา เพราะเห็นว่าฉบับที่ร่างอยู่นี้มาจากการยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง ที่มาไม่ถูกต้อง ส.ส.ร.ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตยเพราะประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้" นายปริญญา กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
**ที่มา ส.ว.-วาระองค์กรอิสระ-พุทธศาสนา อาจทำรัฐธรรมนูญใหม่สะเทือน
นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญใหม่เป็นสิ่งที่ต้องจับตาไม่แพ้กันใน 3 เรื่อง โดยเฉพาะที่มาของส.ว.ซึ่งส่วนหนึ่งให้มาจากการสรรหา ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าเหมือนเป็นการถอยหลังประชาธิปไตย ในขณะที่กรรมการสรรหา ส.ว.ส่วนใหญ่ต่างมาจากฝ่ายตุลาการ ไม่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ประเด็นขององค์กรอิสระที่ยังคงให้อำนาจผู้ที่อยู่ในองค์กรอิสระทำงานได้ต่อไปจนหมดวาระ ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ควรสรรหาบุคลากรในองค์กรอิสระใหม่
รวมถึงประเด็นการเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายพระสงฆ์และองค์กรพุทธปรับท่าทีจากการชุมนุมต่อต้านมาเป็นการขอความร่วมมือ เพราะมองว่าอาจมีโอกาสสร้างกระแสการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มากกว่า
"ถ้ามองในประเด็นเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ น่าจะมีคนอีกกลุ่มเห็นว่ายังเป็นสาระที่รับไม่ได้ เขาอาจจะใช้เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดแนวร่วมในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่" นายสมชัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ขณะที่นายปริญญา กล่าวว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่น่าจะมีปัญหาจริงๆ คือเรื่องที่มาของ ส.ว.ที่ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหารวมถึงอำนาจที่สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้ประชาชนเห็นว่า ส.ส.ร.ไม่สามารถคืนอำนาจให้กับประชาชนได้อย่างครบถ้วนผ่านทางรัฐธรรมนูญใหม่
"อำนาจตรงนี้มันไม่ชอบ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งหรือสรรหาไม่ควรมีอำนาจตรงนี้(ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ตรงนี้เป็นข้อที่ถอยหลัง เพราะถ้าเราไม่เคยมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไปอย่าง แต่นี่เคยมีมาแล้ว หน้าที่ของ ส.ส.ร.คือคืนประชาธิปไตยที่ถูกยึดไปมาให้ประชาชน แล้วนี่คืนมาไม่หมด มันก็เลยเป็นจุดอ่อน" นายปริญญา กล่าว
**ประชาชนจำใจรับรัฐธรรมนูญใหม่เพราะกลัวต้องใช้ฉบับคมช.
นายปริญญา กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้ประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่แม้จะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาโดยมิชอบ อาจเพราะเกรงว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน คมช.จะหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาใช้ก็ได้ ย่อมน่ากลัวกว่าและอาจทำให้สถานการณ์บ้านเมืองยังคงวุ่นวายไม่จบ เพราะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศด้วย
"คนไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะรับหรอก แต่อยากให้บ้านเมืองสงบ และถ้ารับไว้จะสบายใจกว่าไปเสี่ยงดวงเอารัฐธรรมนูญในฉบับของคมช. ซึ่งไม่เห็นเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เลือกตั้งล่าช้าไปไหม และจะเกิดวิกฤติหรือเปล่า ก็จะมีคนจำนวนมากที่จำใจ หรือเรียกว่าประชาชนถูกมัดมือชกอยู่พอสมควร...คือถ้าเห็นว่าเนื้อหาพอไปได้และอยากจะเห็นการเลือกตั้งในปีนี้ ก็รับไปก่อน เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ปกติ จากนั้นค่อยมาแก้รัฐธรรมนูญกันอีกทีก็ได้" นายปริญญา กล่าวในท้ายที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ