กลุ่มคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชน นำโดยนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ทั้งการใช้งบประมาณ และการกู้เงินผ่านพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลการใช้เงินทั้งหมดต่อประชาชนจากการดำเนินนโยบายในหลายเรื่อง ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นายนิคม กล่าวว่า ในฐานะเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน มีความกังวลว่าการใช้งบประมาณของภาครัฐอาจจะไม่มีความโปร่งใส จึงคิดว่า สตง. โดยเฉพาะผู้ว่าการ สตง.ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายจำเป็นต้องมีการตรวจสอบการใช้เงินทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ จากปกติที่ สตง.จะตรวจสอบเฉพาะปลายน้ำเท่านั้น
"สตง.ต้องทำทั้ง 3 ส่วน อย่ารอตรวจสอบแค่ปลายน้ำอย่างเดียว เพราะจะสายเกินแก้ อย่าลืมว่าอ้อยเข้าปากช้างแล้วสุดท้ายต้องไปตรวจสอบขี้ช้างแทน ดังนั้นการป้องกันตั้งแต่ทีแรกจะดีกว่า เพราะการใช้งบครั้งนี้เป็นการใช้งบประมาณแบบเร่งด่วน และใช้จำนวนมาก รวมถึงมีการกู้เงินผ่าน พ.ร.ก. 3 ฉบับ ซึ่งถือเป็นการกู้เงินมากที่สุด และยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะมีแผนการหารายได้มาชดเชยเงินก้อนนี้อย่างไร และเชื่อเหลือเกินว่าภาระเหล่านี้จะตกไปที่ลูกหลาน อย่าให้คนไปพูดได้ว่า "ลุงกู้ไปผลาญ ลูกหลานต้องมาใช้หนี้แทน" ไม่อยากให้มีคำนี้" นายนิคม กล่าว
อีกทั้งการใช้งบประมาณครั้งนี้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเกี่ยวข้องด้วย อาจจะทำให้การตรวจสอบการใช้งบประมาณ โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้เป็นห้วงเวลาของการปิดสภาพอดี จึงคิดว่า หน่วยงานที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ คือ สตง.จะทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนในการใช้งบประมาณ
นายนิคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการใช้งบประมาณของรัฐบาลยังไม่ถูกเป้าหมายเท่าที่ควร จากการที่มีประชาชนหลายกลุ่มมาร้องเรียนว่าตัวเองลงทะเบียนผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว แต่ยังไม่ได้เงิน ส่วนบางคนที่ได้เงินก็ไม่สมควรได้รับ จึงมีความข้องใจว่าระบบเอไอของรัฐบาลที่ทำขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการจ่ายเงินนี้มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ และจ่ายเงินอย่างทั่วถึงเป็นธรรมและตรงเป้าหมายคนเดือดร้อนหรือไม่อย่างไร เนื่องจากเงินเหล่านี้เป็นเงินภาษีของประชาชน
"ครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะมีการกู้เงินผ่าน พ.ร.ก. 3 ฉบับ และเป็นการกู้เงินมากที่สุด การกู้เงินขึ้นมา ประชาชนทุกคนไม่ว่าใครก็แล้วแต่ต้องมาเป็นหนี้ร่วมกัน การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท ใช้ด้านสาธารณสุขดูแลเรื่องโควิด-19 จริงๆ ส่วนอีก 5.55 แสนล้านบาท ที่จะนำมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนนี้อยากทราบว่าประชาชนจะได้รับเงินกันทั่วถึงหรือไม่ อย่างไร และการจ่ายเงินเป็นล็อตๆ บางคนก็ยังไม่ได้เลย และการจ่ายเงินให้ประชาชนมีความล่าช้า เพราะการทำงานที่ล่าช้าถือเป็นการทุจริตอีกอย่างหนึ่ง และอีกก้อนคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท
หากมองภาพรวมการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องดี แต่ยังมี พ.ร.ก.กู้เงินอีก 2 ฉบับ วงเงิน 5 แสนล้านบาทสำหรับช่วยเอสเอ็มอี ก็ต้องไปดูว่าช่วยทุกกลุ่ม อย่าช่วยเฉพาะกลุ่มทุน หรือพรรคพวกตัวเอง และอีกฉบับวงเงิน4 แสนล้านบาท ที่จะเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ เงินก้อนหนี้น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นเงินที่จะนำไปช่วยกลุ่มทุน ซึ่งไม่ได้ใช้ช่วยเหลือประชาชนจำนวนมาก แต่ประชาชนที่ไม่ได้ประโยชน์จากเงินก้อนนี้กลับต้องร่วมเป็นหนี้ด้วย" นายนิคม กล่าว
นายนิคม กล่าวว่า การเกิดโรคระบาดในครั้งนี้ ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมดทั้งคนยากจน คนร่ำรวย หรือข้าราชการที่บางคนเงินเดือนไม่พอ ก็ต้องหางานพิเศษทำ ฉะนั้น ปัญหาเกิดที่การจ่ายเงินของรัฐบาลทำไม่ทั่วถึง จ่ายเงินล่าช้า และจ่ายไม่พร้อมกัน เหล่านี้คือความเป็นห่วงที่เกิดจากการบริหารราชการของรัฐบาลชุดนี้ เพราะตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศก็มีการกู้เงินทุกปี จนมาถึงปัจจุบันการบริหารที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่ป้องกันตั้งแต่ทีแรก จนทำให้มีการระบาดทั่วประเทศ จนไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจจะไม่พังขนาดนี้
"รัฐบาลปล่อยให้เศรษฐกิจพังพินาศ ไปปิดบริษัท ห้างร้าน แล้วกลายเป็นว่าทุกคนตกงาน ขณะที่เดิมทีประเทศเราก็มีคนก็ตกงาน ยากจนอยู่แล้ว นี่มาปิดประเทศอีก แม้ว่าจังหวัดไหนจะไม่มีการระบาดก็ถูกปิดจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการใช้เคอร์ฟิว เป็นการทับถมชาวบ้าน อยากถามว่าการประกาศเคอร์ฟิว การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่ออะไร ในมุมผมเองถ้ามองในเชิงการเมือง การใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนมาชุมนุมหรือไม่ หรือเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่คิดได้เช่นกัน" นายนิคม กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลควรเปิดให้มีการค้าขายปกติได้แล้วหลังจากปิดมานานเกินไปแล้ว โรคที่รักษาไม่ได้คือ โรคเรื้อรังจากเศรษฐกิจ โรคเรื้อรังจากความยากจน เพราะโรคนี้ไม่มียา ไม่มีหมอ ไม่มีโรงพยาบาลรักษา ฉะนั้นประชาชนต้องมีงานทำ ต้องเปิดประเทศ อย่าเปิดเพียงบางส่วน หรือเปิดแค่เล็กน้อย เพราะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากฟันเฟืองเศรษฐกิจไม่สามารถหมุนไปพร้อมกันได้ หรือเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 4 เครื่อง แต่เปิดแค่ 2 เครื่องอีก 2 เครื่องดับ ถามว่าค้าขายได้ไหม ห้างเปิดมีใครซื้อไหม เพราะประชาชนยังเดินทางเข้า กทม. ทำงานพร้อมกันไม่ได้ แรงงานไม่มี ทุกคนกลับบ้านหมดแล้ว
"นี่คือความลำบากของประชาชน ผู้ประกอบการและนักธุรกิจ รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ตอนนี้ทุกส่วนแย่มาก ถ้าจะพูดว่าฉิบหายก็ได้ เพราะเป็นเรื่องจริง ถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไปมากกว่านี้ บอกได้เลยว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ล้มละลายได้ ขอให้อย่าประมาท" นายนิคม กล่าว
สำหรับข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเรื่องการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบประมาณนั้น นายนิคม ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่ควรต้องทำอยู่แล้ว และพร้อมสนับสนุน เพราะเป็นประโยชน์ ส่วนฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการตรวจสอบรัฐบาลที่กำลังใช้งบประมาณ และตอนนี้สภาปิด รัฐบาลก็อาจใช้จังหวะนี้ในการตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อใช้งบประมาณ
"สภาไม่เปิดดีแล้ว แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ถ้าท่านมีจิตสำนึกว่าท่านเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศก็ควรจะมาลงชื่อเพื่อให้มีการเปิดสภาให้เร็วที่สุดเพื่อตรวจสอบการใช้งบ อย่าปล่อยให้ภาระเหล่านี้กลายเป็นหนี้สาธารณะ จนสุดท้ายลูกหลานเหลนโหลนต้องมานั่งรับกรรม ฝ่ายค้านทำได้เต็มที่ได้แค่นี้ ก็หวังว่าฝ่ายรัฐบาลจะมี ส.ส.สัก 1-2 หรือ 30-40 คนมาที่เกิดมีจิตสำนึกมาร่วมลงชื่อ เราจะดูว่ามีสักคนไหม"นายนิคม กล่าว