COVID-19เพื่อไทย เรียกร้องรัฐบาลปลดล็อกกิจกรรมเศรษฐกิจ แนะใช้เงินกู้ลงทุนรองรับ New Nomal -สร้างธุรกิจใหม่

ข่าวการเมือง Monday May 18, 2020 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดเสวนา "อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 : วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และก้าวย่างของไทย" ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องพิจารณาในสองประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน คือ ความสมดุลด้านระบาดวิทยา กับ เรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ประเทศที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ใช่ประเทศที่หยุดการระบาดได้อยู่หมัดบนซากปรักหักพัง และไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยการระบาดรุนแรงจนยืดเยื้อ กระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับเป็นประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลให้การระบาดอยู่ในภาวะควบคุมได้ พร้อมกับประคองเศรษฐกิจ ให้ยืนอยู่ได้ในวันที่โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

สำหรับประเทศไทย จัดอยู่ในประเทศควบคุมการระบาดได้ดี แต่การออกมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น มากเกินความจำเป็น และมีผลกระทบสูงต่อการใช้ชีวิตของประชาชน

พรรคเพื่อไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นเรื่องนี้ และได้มีการเรียกร้องให้เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้คนได้ใช้ชีวิตการงานเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัวก่อนสถานการณ์เศรษฐกิจจะล้มละลายจนยากเกินเยียวยา

"ณ วันนี้ เรามีคำถามที่ใหญ่กว่านั้น คือ หลังจากเรื่องนี้คลี่คลายลง ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า นับจากวันนี้ ไทยมองเห็นโอกาสอะไร และมีแผนจะคว้าโอกาสนั้นอย่างไร" นายสมพงษ์ กล่าว

โดยมองเห็นโอกาสของไทยที่จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้เกิดศูนย์กลาง 4 ด้าน เป็นโอกาสที่จะต้องไขว่คว้าให้ได้ ในยามที่นานาประเทศต่างกำลังฟื้นฟูภาวะทางสังคม เศรษฐกิจจากบาดแผลของโควิด-19 ได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวปลอดภัย, ศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุข, ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสินค้ากลางน้ำแหล่งใหม่, ศูนย์กลางอาหารปลอดภัยของโลก

"ทั้ง 4 โอกาสข้างต้นที่ผมนำเสนอมา จะเกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ แต่ในทางตรงข้าม จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันหากรัฐบาลไม่กระตือรือร้น สร้างสรรค์ และยังคงวนในกับดักเก่าที่ทำงานและบริหารแบบเดิมไปเรื่อยๆ"

นายสมพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ได้กู้เงินจำนวนมหาศาล แต่ผมมองไม่เห็นทิศทางการวางอนาคตให้ประเทศสักเท่าใด นอกจากความกังวลใจที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความห่วงใยว่า จะมีการนำทรัพยากรและเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ไปหาประโยชน์ทางการเมืองและหาประโยชน์ส่วนตนของพวกพ้อง

อยากฝากให้รัฐบาลมองสถานการณ์หลังโควิด-19 ให้เห็นถึงโอกาส และใช้งบประมาณเหล่านี้ เป็นเครื่องมือไปสร้างอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งโอกาสให้ประเทศ

รัฐบาลต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ คนที่ต้องร่วมกันชดใช้คือประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงลูกหลานเป็นลูกหนี้ต่อไปอีกยาวนาน แต่รัฐบาลเป็นคนเอาเงินไปใช้ ฉะนั้นเงินกู้จากสถานการณ์นี้จึงจำเป็นต้องถูกนำไปใช้ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ การใช้เพื่อฐานเสียง การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้เงินกู้ก้อนนี้

ทั้งนี้เพราะ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับทำให้คนไทยตกเป็นหนี้ก้อนมหาศาล รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารมีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างเต็มที่ แต่กลไกการตรวจสอบและกำกับการใช้จ่ายเงินกลับมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพียงไม่กี่คนที่จะตรวจสอบเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นระบบที่หละหลวมและอาจเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใส เป็นเรื่องน่ากังวลใจอย่างยิ่ง

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีรากฐานที่แข็งแรงอยู่แล้ว เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ โดยจำเป็นอย่างยิ่งต้องพึ่งกำลังซื้อภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นรัฐบาลต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านอนามัย เทคโนโลยีเพื่อรองรับ New Normal จะเอาเงินกู้มาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ เพราะต้องลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคต "เรามีระบบสาธารณสุขเข้มแข็งมาอย่างยาวนาน แต่เราต้องต่อยอดให้เกิดความเชื่อมั่น เรามีความมั่นคงในเรื่องนี้มากพอ รวมไปถึงการท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งเราจะต้องพัฒนาให้เข้มแข็งต่อไป เช่นเดียวกับภาคการเกษตรที่ต้องมุ่งไปสู่ระบบอาหารปลอดภัย New Normal ในความหมายของพรรคเพื่อไทย คึอ การทำให้คนไทยและคนทั่วโลกที่มาประเทศไทยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขปลอดภัย ปลอดโรคและมีเสรีภาพ ดังนั้นต้องลงทุนเพื่อให้ธุรกิจไทยเดินต่อไปและสามารถแข่งขันได้ภายหลังโควิด-19" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า หากปลดล็อกทางเศรษฐกิจช้าไปผลกระทบจะสูงมาก แม้ตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นแต่ปลายปีจะได้เห็นแน่นอน หากปลดล็อกช้าอาจเกิดการว่างงานมากกว่าล้านคน

ขณะเดียวกันต้องเร่งฟื้นการท่องเที่ยวให้ทันกับปลายไตรมาส 3/63 โดยเงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลเตรียมไว้อาจจะไม่เพียงพอ และยุทธศาสตร์ประเทศต้องเปลี่ยนแปลงทันที จากเดิมที่พึ่งโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็คงไม่สามารถใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนแอตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ดังนั้นต้องรีบเปิดเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา ประเทศไทยต้องรีแบรนด์ตัวเอง โดยต้องทำให้คนทั่วโลกคิดว่าเมื่อมาไทยแล้วจะมีสุขภาพดี หรือ Wellness Thailand จากเดิมเป็น Amazing Thailand


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ