นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินจำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการกู้เงินและการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาเหตุวิกฤติจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค. นั้น เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน เพื่อให้เกิดการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรอบด้าน และจะสร้างสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่พี่น้องประชาชนได้อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลพิสูจน์แล้วว่า ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ทุกกระทรวงผลักดันมาตรการการช่วยเหลือประชาชนในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกระทรวงพลังงานกมีผลงานที่เป็นรูปธรรม คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น มาตรการการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า กว่า 21.5 ล้านราย วงเงิน 30,000 ล้านบาท , มาตรการช่วยลดค่าไฟฟ้าระดับครัวเรือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ครอบคลุมประชากร 22 ล้านราย และการลดราคาก๊าซหุงต้มลง 3 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงไปถังละ 45 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม
"ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้การอภิปรายที่จะเกิดขึ้นพ.ร.ก.กู้เงินและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาชี้แจงกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่า พร้อมจะรับฟังทุกข้อเสนอที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งระยะเวลา 3 วัน ถือว่าเพียงพอที่ส.ส.ฝ่ายค้านจะทำทำการอภิปรายซักถามและตรวจสอบ ไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาถึง 5 วัน"นายสนธิรัตน์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคพปชร. และปรับคณะรัฐมนตรีนั้น นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น แต่ขอเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่เหมือนที่เคยทำมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ต่อไป เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดอยู่กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเชื่อว่า กระทรวงพลังงานสามารถสร้างผลงานให้ประชาชนได้เป็นที่น่าพอใจ ตามแนวนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน
อนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาพ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 , พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563