นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.แล้วหน่วยงานของรัฐทั้งหมดต้องแสดงความเป็นกลาง โดยการให้ข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบ แทนการโน้มน้าวใจ และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.ประกาศให้ชัดเจนว่าหาก รธน.ไม่ผ่านจะนำฉบับใดมาปรับใช้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตัดสินใจ
" มีทางเดียวที่จะให้ประชามติ 19 สิงหาคม เป็นการตัดสินใจของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ จะต้องยอมรับในผลที่ออกมา มีทางเดียวคือต้องให้ รัฐต้องเป็นกลางและให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีโอกาสเสมอกัน ในการให้ข่าวสารข้อมูล และประชาชนต้องทราบว่าถ้า ไม่รับจะเกิดอะไรตามมา " นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา ยังแสดงความเป็นห่วง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทีมีแต่บทลงโทษประชาชนที่ทำผิดแต่ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ และยังให้อำนาจ กกต.มากเกินไป พร้อมยังเรียกร้องให้กำหนดว่าหากประชาชนไม่กาในช่องใด ให้ถือว่าเป็นการประสงค์ที่จะไม่ลงคะแนน
ขณะนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดให้รัฐบาลและคมช.ประชุมกันว่าจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้นั้นต้องหลังจากที่ประชามติไม่ผ่าน ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการก่อนการลงประชามติไม่ได้ ทั้งนี้ เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าหากไม่กาในช่องใดถือเป็นการประสงค์ที่จะไม่ลงคะแนน
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์ โทร.0-2253-5050 อีเมล์: jumnain@infoquest.co.th--