นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ได้ชะลอนำรายชื่อของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากมีข้อท้วงติงเรื่องคุณสมบัติ กรณีที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะต้องรอให้คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ยืนยันมติการคัดเลือกมาก่อน เพราะมีการตีความการทำหน้าที่ สนช.แตกต่างจากคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ระบุว่าสมาชิก สนช.ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ ส.ส.หรือ ส.ว.ดังนั้นหากพ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 10 ปีไม่สามารถเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้
ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า วุฒิสภาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งหรือเลือกกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ และที่สำคัญคือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 203 วรรคห้า ระบุว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด ส.ว.ไม่สามารถหักล้างได้ และยอมรับว่าทราบตั้งแต่ต้นว่าผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เคยเป็น สนช.มาก่อน
ส่วนจะเป็นบรรทัดฐานว่าคนที่เป็น สนช.มาไม่เกิน 10 ปีดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระได้หรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า มีคำวินิจฉัยไว้อยู่แล้ว ไม่สามารถให้ความเห็นหักล้างได้ว่า สนช.คือ ส.ว.หรือไม่ และเปรียบเป็นการมัดมือชก ส.ว.ชุดนี้ที่ต้องทำตามกฎหมาย เพราะถ้าทำผิดขึ้นมาก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
นายพรเพชร กล่าวว่า กรณีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรตามกฎหมายที่จะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ โดยขณะนี้จะรอคำวินิจฉัยของกรรมการสรรหา กสม. หลังจากมีกระแสข่าวว่าเคยตัดสิทธิอดีต สนช.ทั้ง 2 คนออก แต่หากจำเป็นค่อยยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
"ผมมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เพียงบุรุษไปรษณีย์ เมื่อสังคมสงสัยและวิจารณ์ว่าเป็นความผิดของวุฒิสภา และพูดถึงว่า กสม.ลงมติไม่ตรงกับกรรมการ ป.ป.ช. สิ่งที่ผมต้องพิจารณาจากหลักฐาน ซึ่งยังไม่มีการแจ้งมาจากกรรมการสรรหาจึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ ถ้าจะเรียกว่าเป็นการมัดมือชก ส.ว.ก็ได้ เพราะเราต้องทำตามกฎหมาย หากถ้าทำผิดขึ้นมาก็จะถูกฟ้องได้"นายพรเพชร กล่าว
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหาฯ สิ้นสุดลงแล้วจะลงมติใหม่ไม่ได้ แต่เมื่อประธานวุฒิสภาได้ส่งหนังสือขอให้คณะกรรมการสรรหาฯ ยืนยันมติที่เลือกนายสุชาติ ดังนั้น ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาฯ จึงได้เชิญกรรมการทั้งหมดมาหารือกันในวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย.) ซึ่งต้องรอผลการหารือก่อนว่าทางออกจะเป็นอย่างไร
การเลือกนายสุชาติครั้งนี้ต้องมีการลงมติถึง 3 ครั้ง เนื่องจากมีข้อหารือถึงคุณสมบัติของอดีต สนช.ว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นว่า สนช.ทำหน้าที่เหมือน ส.ส.หรือ ส.ว.หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวได้มีข้อสังเกตถึงการตีความในกรณีนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าหากไม่ลงมติในครั้งนั้นจะต้องไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ตั้งแต่ต้นจึงมีการโหวตในที่ประชุมถึง 3 รอบ และรอบสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ลงมีมติเสนอชื่อนายสุชาติให้วุฒิสภาพิจารณา