รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ทำหน้าที่เป็นประธานฯ นัดแรก ได้หารือกันถึงกรอบเวลาในการทำงาน
ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายไพบูลย์ เล่าที่มาในการเข้ารับตำแหน่งประธานฯ โดยเคยตรวจสอบคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้นายอดิศร เพียงเกษ ที่ปรึกษาฯ ท้วงว่าเล่าเรื่องส่วนตัวมากเกินไป แต่นายไพบูลย์ยืนยันว่าเป็นวาระแจ้งให้ทราบ และไม่ได้อนุญาตให้พูด จากนั้นเล่าต่อจนจบแล้วขอให้ กมธ.แต่ละคนแนะนำตัว ซึ่งนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการเสียเวลา จึงเกิดการโต้เถียงกันจนกระทั่งวอล์คเอาท์จากห้องประชุมไปโดยไม่แนะนำตัว
หลังจากนั้น นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานฯ เสนอกรอบการทำงาน 3 ประการ ได้แก่ 1.ต้องพิจารณาเกณฑ์การอนุมัติใช้เงินใน พ.ร.ก.แต่ละฉบับ เพื่อให้เป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน 2.ต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจน เกิดประโยชน์จริงหรือตรงกับกลุ่มคนที่ควรจะได้รับหรือไม่ ซึ่งระบบราชการไทยมักจะไม่มีการประเมินผล มีแต่การใช้งบประมาณให้หมด และต้องตอบให้ได้ว่าเป้าหมายคืออะไร และ 3.การพิจารณาโครงการต่างๆ ควรมีคำแนะนำ ไม่ใช่แค่วิจารณ์อย่างเดียว
ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นอกจากงบประมาณตามพระราชกำหนด 3 ฉบับแล้ว ยังต้องมีการตรวจสอบงบกลางที่ได้รับการโอนจากงบประมาณปี 2563 ด้วย รวมไปถึงการติดตามตรวจสอบการออกมาตรการต่างๆ เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรการหลายอย่างที่ยังไม่คลายล็อก โดยการทำงานของ กมธ.ควรมีอายุมากกว่า 120 วัน เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินถึงสิ้นเดือน ก.ย.64
นายพิธา กล่าวว่า กรณีที่นายไพบูลย์ได้รับเลือกเป็นประธานฯ นั้น ไม่ว่าประธานฯ จะเป็นใครก็มีกติกามีข้อบังคับ แต่จริงๆ แล้วหากฝ่ายค้านเป็นประธานฯ จะเกิดความสง่างามกว่า เพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้ฝ่ายค้านก็ต้องทำงานให้หนักมากขึ้นในการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประณ พ.ศ.2564 ด้วย