นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐตั้งนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศรฐกิจว่า ประชาชนเรียกร้องถึงความชัดเจนของบุคลากรที่เป็นทีมเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจ ตอนนี้รัฐบาลออกมาตรการมาหลายรูปแบบทั้ง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ, พ.ร.ก.กู้เงิน และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 แต่ถ้าไปดูดัชนีความเชื่อมั่นในการบริโภค และตัวเลขการท่องเที่ยวจะเห็นว่าประเทศไทยมีการตอบสนองปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งนโยบายการเงินและการธนาคาร แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนและ SMEs กลับต่ำลงเรื่อยๆ
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า รัฐบาลต้องตัดสินใจไม่ใช่แค่ในมุมการเมือง แต่ต้องดูถึงความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความมั่นใจกลับคืนมาและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็จะง่ายขึ้น ดังนั้นบุคคลากรที่เลือกต้องอยู่บนความพร้อมสำหรับแก้ปัญหาในมหาวิกฤตอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เช่น การเยียวยาแรงงานนอกระบบ เกษตรกร คนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก จะหมดลงในเดือนหน้า หรือการพักชำระหนี้จากธนาคารก็จะหมดเดือนกันยายนแล้ว
"ประชาชนก็จะตั้งคำถามว่าแล้วยังไงต่อ ตอนนี้นโยบายต่างๆ ยังไม่ได้เรียกความเชื่อมั่น แต่กลับคงไว้ซึ่งความกลัวจากการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่มีเหตุผลและความชอบธรรม ทั้งที่ปลอดโควิดมา 30 กว่าวันแล้ว ถือว่ากระทบเศรษฐกิจในทางอ้อม ทำให้นักลงทุนเกิดความกลัวในการเข้ามาลงทุนเพิ่ม" นายพิธา กล่าว
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจในการแก้ปัญหา แม้จะเคยบอกว่าประเทศไหนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเหมือนกันหมดในช่วงนี้ แต่จากการรายงานของสำนักงานต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับกระทบมากที่สุด ทั้งที่ก่อนหน้าหน้าบริหารประเทศมากว่า 7 ปีโดยไม่มีฝ่ายค้าน มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ทำอะไรก็ได้ แต่ไม่มีการเตรียมการสำหรับรับมือกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือสาธารณสุข หรือแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม พอถึงตอนนี้จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ที่ต้องแก้ปัญหาโดยด่วน
หัวหน้าพรรคก้าวไกล ปฏิเสธที่จะวิจารณ์ลงรายละเอียดถึงตัวนางนฤมล แต่เสนอว่าบุคคลที่จะเข้ามาทำงานด้านเศรษฐกิจต้องมีความเข้าใจถึง supply chain ระดับโลก เข้าใจการผลิต การเงิน และการธนาคาร รวมทั้งต้องติดดินเข้าใจประชาชนได้จริง แต่จากปัญหาการเมืองที่ระอุมาก จึงไม่มีใครอยากเข้ามาทำงานพยุงเศรษฐกิจ คนไม่อยากเข้ามาเปลืองตัว นายกรัฐมนตรีต้องจัดบรรยากาศในการทำงานให้เหมาะคนที่มีความรู้ความสามารถและพร้อมเข้ามาเสียสละทำงาน ถ้าคนนอกที่อยากเข้ามาทำงานก็อยากรักษาประโยชน์ให้กับประชาชน แต่ถ้าติดเรื่องโควตาและเล่นการเมืองแบบเก่าก็เป็นบรรยากาศที่ไม่มีใครอยากเข้ามา เพราะทำงานแบบไม่มี ส.ส.สนับสนุนเป็นฐานของตัวเองก็เก้าอี้ลอย พอเข้ามาทำงานแล้วสักพักก็ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือทำงานเสร็จแล้วผลักออกไป
ส่วนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เหมือนทำมาเพื่อแช่แข็งประเทศไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2563 ไม่มีการแก้ปัญหาของชาวภาคเหนือที่มีปัญหาไฟป่าคู่กับโควิด ภาคอีสานภัยแล้งคู่กับโควิด หรือภาคใต้ที่มีปัญหาการท่องเที่ยวพร้อมกับโควิด พวกเขาเหล่านี้จะต้องผิดหวัง ซึ่งส่วนตัวมองว่าต้องเร่งเยียวยาภาคใต้ก่อนอันดับแรกตามความเร่งด่วน โดยดูจาก GPP ของภูมิภาคไม่ใช่ GDP ของประเทศ อีกทั้งถ้าเป็นตนเองเห็นจะใช้เทคโนโลยี เช่น เว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันเป็นกลไกให้เข้าถึงประชาชน เหมือนสิงคโปร์ที่กดทีเดียวก็เงินเยียวยาถึงประชาชน
"หวังว่าคนที่จะเข้ามาทำงานหลังการปรับคณะรัฐมนตรีก็ต้องมีวิสัยทัศน์ในการแก้งบประมาณที่ไม่ตรงจุด คิดแผนให้นายกรัฐมนตรี และหวังว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ใช้อำนาจและตีเช็คเปล่า และหากโครงการต่างๆ ที่เสนอมาใช้จ่ายจากงบประมาณเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาทไม่ตอบสนองจุดประสงค์ก็ต้องสามารถโอนกลับมาใช้ในด้านการป้องกันโรคได้"นายพิธา กล่าว