คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และควรนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในไทยก็ใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่เห็นด้วยในตอนแรกที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นการติดเชื้อในประเทศไม่มีแม้แต่รายเดียวเป็นเวลา 34 วันต่อเนื่องแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นในการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้จะทำให้เกิดข้อเสียมากขึ้น โดยจะกระทบกับภาคเศรษฐกิจที่จะหนักมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
"รัฐบาลต้องรักษาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สร้างความไม่มั่นใจในการค้าการลงทุน อีกทั้งการใช้งบประมาณต้องโปร่งใส ตราบใดที่ยังคง พ.ร.กฉุกเฉินอยู่ การใช้งบต้องเป็นวิธีพิเศษ เกรงว่าจะใช้เป็นข้ออ้างในการหาประโยชน์ในการใช้งบประมาณได้" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น อาจเป็นการเปิดช่องให้ก่อการทุจริตขึ้นเยอะ เพราะหลังจากมีคณะกรรมาธิการกลั่นกรองขึ้นมา และได้วินิจฉัยข้อขัดแย้งจนนำไปสู่การแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะโดยปกติการจัดซื้อจัดจ้างด้วยงบประมาณที่มีมูลค่าสูง จะต้องเข้าสู่กระบวนการประมูล หรือ e-Bidding แต่ในระหว่างที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องใช้การจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-Bidding ไม่ว่าจะมูลค่าเท่าใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่ออาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเว้นการประมูล
"จากข้อสังเกตจะพบว่าเมื่อขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จทันเดือนมิถุนายน การจัดซื้อจัดจ้างจึงต้องทอดเวลาไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน จึงได้เห็นการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนเช่นกัน โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ต้องประมูล นี่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัด" นายสุทิน กล่าว
ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ไม่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในไทย 35 วันแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และรัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 5% ในปี 2564 หากรัฐบาลยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้จะไม่สามารถให้เศรษฐกิจโตได้
"เหตุแห่งความจำเป็นตามประกาศของรัฐบาลในการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีอีกต่อไปแล้ว นอกเสียจากเหตุผลทางการเมือง ที่ควบคุมประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความเห็น พรรคเพื่อไทยจึงเสนอให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทันที" นายวัฒนาระบุ