นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า การจัดงบประมาณปี 64 ไม่ได้แตกต่างจากปี 63 ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤติ ทั้งที่การแก้ปัญหาของประเทศต่อจากนี้จะแก้แบบเดิม ใช้งบแบบเดิม แล้วหวังว่าจะได้รับผลลัพธ์ใหม่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ โดยงบประมาณที่รัฐบาลมีหากใช้เป็นจะเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และทุเลาความเดือดร้อนของประชาชนได้
ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย.เป็นเดือนสุดท้ายที่ผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศมาตราการรองรับใดๆ อีกทั้งในเดือน ก.ค.ก็จะเป็นเดือนสุดท้ายที่เกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือนได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท และกลุ่มคนเปราะบางไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ กว่า 6.7 ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยา 1,000 บาทเป็นเดือนสุดท้ายเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับการพักหนี้ไว้ราว 15 ล้านราย จะต้องเริ่มกลับมาจ่ายคืนหนี้ในเดือน ก.ย. และยังมีแรงงาน นักศึกษาตกงาน กว่า 30 ล้านคน กว่าครึ่งประเทศ กำลังจมหายไปต่อหน้าต่อตา
"ประชาชนที่เคยหวังพึ่งระบบ AI ของรัฐบาล และทุลักทุเลกับการขอเงินเยียวยา 5 พันบาท สามัญสำนึกก็บอกผมว่าน่าจะมีงบประมาณอะไรสักอย่างที่จะมาต่อยอดจาก "เราไม่ทิ้งกัน" ทำ Digital Wallet หรือ Smart ID Card ที่ทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหานี้ได้ดีกว่าเดิม ทั่วถึงกว่าเดิม รวดเร็วกว่าเดิม ถ้าเกิดเหตุที่ทำให้รัฐต้องปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง แต่ผมต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ ไม่มีงบประมาณ โครงการ เหล่านี้อยู่ในงบปี 64 หรือถ้ามีก็ไม่รู้ว่าตัวชี้วัดคืออะไร"นายพิธา กล่าว
ขณะที่ในส่วนของการกู้เงินให้เป็นนั้น รัฐบาลต้องบริหารให้เกิดความน่าเชื่อถือ สร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ และกู้มาสร้างรายได้ให้กับประเทศ ถ้ารัฐบาลกู้มาคอร์รัปชั่นแบ่งเค้กกันเอง กู้แล้วประเทศก็ไม่เกิดรายได้ ประเทศก็ไม่น่าเชื่อถือ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งแพง แล้วยิ่งถ้ารัฐบาลหันมาปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างจนเกิดความไร้เสถียรภาพ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก
ดังนั้น จึงอยากฝากไว้กับรัฐบาลว่าในกรณีที่ใช้เงินก็ไม่เป็น หาเงินก็ไม่เป็น วิกฤติครั้งนี้เราคาดหวังความช่วยเหลือจากต่างประเทศเหมือนในอดีตไม่ได้แล้วเพราะลำบากกันทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ในวิกฤติครั้งนี้เราหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างชาติไม่ง่ายอีกต่อไป เราต้องคิดเพื่อรองรับระเบียบโลกใหม่ตรงนี้ไว้ด้วยเช่นกัน
นายพิธา กล่าวว่า ไม่สามารถให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 64 ในวาระ 1 ได้ เพราะการใช้เงินเป็นรัฐบาลต้องเตรียมสวัสดิการโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้เพียงพอกับความเดือดร้อนของประชาชนในมหาวิกฤติ และรัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต ไม่ใช่แค่การตัดถนน 2 แสนล้าน การหาเงินให้เป็นนั้นรัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้การคลังท้องถิ่นจัดเก็บรายได้และบริหารเงินได้เองมากขึ้น และต้องหารายได้จากภาษีให้มากขึ้นจากคนบนยอดปิระมิดของสังคม ไม่ใช่คนรากหญ้า
"ประเทศจะรอดได้ รัฐบาลต้องใช้เงินเป็น กู้เงินเป็น เพราะฉะนั้นงบปี 64 ต้องช่วยสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต"นายพิธา กล่าว