นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า มีการจัดสรรเพื่อพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ทั้งสิ้น 109,023.8 ล้านบาท แต่ไม่มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในภาคใต้เลย จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างถนนมอเตอร์เวย์ในภาคใต้เหมือนกับภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งตนเองได้เสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาลทุกปีแต่ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะเส้นทางคมนาคมลงสู่ภาคใต้เพียงเส้นทางเดียวคือถนนเพชรเกษม ซึ่งจะเกิดปัญหาหากเกิดอุบัติเหตุหรือถูกน้ำท่วม ดังนั้นขอให้รัฐบาลสร้างถนนทางเลือกในภาคใต้ เช่น ถนนมอเตอร์เวย์ หรือถนนโลคัลโรด
"ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2557 มีงบประมาณก่อสร้างถนนทางหลวงและงบบำรุงรักษาที่น้อยที่สุด สาเหตุที่รัฐบาลในขณะนั้นไม่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในพื้นที่เลยจนถึงยุครัฐบาล คสช. ซึ่งนายชวน หลีกภัย ได้ทำจดหมายส่วนตัวขอความเป็นธรรมไปยังรัฐบาล จึงทำให้รัฐบาลได้จัดงบประมาณเพิ่มขึ้นตามลำดับจากปี 2555 ได้งบประมาณ 4.85 พันล้านบาท ปี 2559 ได้รับงบประมาณ 8.46 พันล้านบาท และปี 2564 ได้รับงบประมาณ 1.39 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองปี 2564 งบประมาณ 11,471 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการเยียวยาหรือคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องภาคใต้ เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ" นายเทพไท กล่าว
ส่วนการจัดงบประมาณในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ที่เป็นไปด้วยความล่าช้ากว่าภาคอื่นๆ และตนเองได้เสนอให้มีการก่อสร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นโครงการที่คิดกันมาเป็นเวลา 50 ปีแล้ว จนถึงบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงอยากให้รัฐบาลได้รับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาและดำเนินการจัดสรรเป็นงบประมาณในปีงบประมาณต่อไป เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนในภาคใต้ที่ถูกทอดทิ้ง และเสียโอกาสมาเป็นเวลายาวนาน
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า การอภิปรายงบประมาณของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลายประเด็นและข้อเสนอแนะมีประโยชน์ รัฐบาลพร้อมนำไปพิจารณาดำเนินการ ขณะเดียวกันมีการอภิปรายที่เป็นเพียงหยิบยกตัวเลขงบประมาณมาสร้างวาทกรรมทางการเมืองเพื่อหวังลดความเชื่อมั่นรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลดูแลประชาชนทั้งประเทศ แต่การพัฒนาจะต้องพิจารณาจากฐานข้อมูลเดิมและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านคมนาคมที่กำหนดไว้ สำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นตนเองก็เห็นใจและได้สั่งการให้ รมว.คมนาคม ไปศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร และจะเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายที่จะก่อสร้างถนนเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ โดยไม่ทับซ้อนกับเส้นทางเดิม ซึ่งจะประกอบด้วย ถนน ทางรถไฟคู่ขนาน ร่องระบายน้ำไปกักเก็บไว้ใช้ โครงการขนาดใหญ่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในแบบ PPP เมื่อผลการศึกษาและทำแผนงานเสร็จแล้วก็จะนำเสนอให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้เกิดเมืองใหม่ ประชาชนไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในส่วนกลาง
โดยหลายโครงการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม มีการลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ทื่จะทดลองเปิดให้บริการปี 65 รถไฟทางคู่เฟส 1 จำนวน 7 เส้นทาง เปิดบริการแล้ว 2 เส้นทาง ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น อีก 5 เส้นทางอยู่ระหว่างก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา การพัฒนาโครงข่ายทางถนนแล้วไม่น้อยกว่า 190 กิโลเมตร รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สถาบันไอโอที อุตสาหกรรมดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3.0-6.5% ตลอดจนจะส่งผลให้เกิดความตื่นตัวด้านการบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการจัดการน้ำ ทั้งน้ำแล้ง-น้ำท่วม การแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ได้ขุดเจาะบ่อบาดาล 725 แห่ง จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 2 แห่ง วางท่อน้ำดิบ 11 แห่ง สร้างสถานีสูบน้ำ 9 แห่ง ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์ 123,495 ครัวเรือน
"หากโครงการใดที่ได้รับงบประมาณไปแล้ว เมื่อทำไม่ได้ ไม่พร้อม ก็ปรับงบประมาณไปทำที่อื่น หลักการทำงบประมาณของรัฐบาลมีแค่นี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความสุจริต เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของส่วนราชการ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว