"จตุพร"เตือนแฟลชม็อบอย่าก้าวล่วงสถาบันห่วงสูญเสียเหมือนอดีตพร้อมแนะนายกฯรับฟัง

ข่าวการเมือง Thursday July 23, 2020 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในฐานะได้รับเชิญจากอนุกรรมาธิการศึกษา ทบทวน การปฏิรูปกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อมาให้ความเห็นสร้างความปรองดอง สมานฉันท์คนในชาติ เพื่อลดความเกลียดชัง ว่า การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นการแสดงออกของคนหนุ่มสาว และขอให้นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมนั้น จะต้องยึดถือข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้ออย่างเคร่งครัด จึงจะได้รับการยอมรับจากประชาชน แม้ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการยุบสภา จะย้อนแย้งกัน เพราะถ้ายังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิม บ้านเมืองก็กลับมาเหมือนเดิม พร้อมห่วงใยว่า นักศึกษาจะต้องเคร่งครัดต่อข้อเรียกร้อง ไม่ก้าวล่วงสถาบันสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจะทำให้ข้อเรียกร้อง กลายเป็นจุดอ่อน และจะนำพาความสูญเสียมากมาย

นายจตุพร ยังย้ำด้วยว่า การเตือนดังกล่าวไม่ได้ต้องการทำให้นักศึกษาเกิดความหวาดกลัว แต่ห่วงใยว่า หากต่อสู้อย่างไร ก็จะได้รับผลลัพธ์อย่างนั้น ถ้ายึดข้อเสนอ 3 ข้อ ไม่ก้าวล่วงสถาบัน ก็มั่นใจว่า จะได้รับแนวร่วมจากประชาชน แต่ถ้าไปก้าวล่วงสถาบัน ก็จะเกิดจุดจบเหมือนกัน จึงกังวลจะเกิดความสูญเสียเหมือนในอดีต และขอให้นักศึกษาตั้งสติ และยึดมั่นว่า ประเทศไทย จะต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจะเป็นภูมิต้านทานของคนหนุ่มสาว

นายจตุพร ยังขอให้นายกรัฐมนตรีมาพูดคุยกับนักศึกษา เพราะข้อเสนอต่าง ๆ สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ส่วนสภาฯ ก็สามารถเป็นเวทีพูดคุย แสดงความเห็นส่งสัญญาณเตือนทุกฝ่าย และเรื่องนี้จะจบลงอย่างสง่างามด้วยการที่นายกรัฐมนตรีเปิดเวทีพูดคุยกับนักศึกษา ประกาศไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นทางออก

อย่างไรก็ตาม นายจตุพรได้ปฎิเสธแสดงความห็นกรณีที่หลายฝ่ายสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรม แต่เห็นว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมหลายครั้ง โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมรัฐประหาร และกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศบ้านเมือง ลดความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งในวันนี้ เปลี่ยนไปไม่เหมือนอดีต และสภาพการประเทศไทย ยังประสบความลำบากทางเศรษฐกิจ สังคมมีความโหดร้าย ฉะนั้น สถานการณ์ทางการเมือง จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าแต่ละฝ่ายยังยึดความเชื่อของตนเอง พร้อมขอให้แต่ละฝ่าย รักษาไว้ซึ่งชาติ บ้านเมือง

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีที่อนุกรรมาธิการศึกษา ทบทวน การปฏิรูปกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร เชิญแกนนำ นปช. และกลุ่มพันธมิตรฯ เข้าวางแนวทางสร้างความปรองดองว่า หลักการสำคัญของการสร้างความปรองดองคือการคืนความยุติธรรมให้ทุกฝ่าย เพราะเมื่อไม่มีความเป็นธรรมก็ไม่มีความสงบสุข ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง สิ่งสำคัญอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่กำลังเป็นระเบิดเวลา ถ้ายังไม่แก้ไข ไม่ยอมรับความจริง อาจจะเกิดสิ่งที่ทุกคนไม่อยากเห็น คือความรุนแรง วิธีหลีกเลี่ยงมีเพียงวิธีเดียว คือการกลับเข้ามากหาข้อตกลงร่วมกันใหม่ในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยที่ทุกฝ่ายยอมรับ ส่วนเรื่องแพ้-ชนะให้ไปคุยในสภาฯ

นายธนาธร ได้กล่าวตอบข้อซักถามถึงการนิรโทษกรรมจะเป็นทางออกหรือไม่นั้นว่า ยังมีคนหลายคนที่ยังเจ็บอยู่จากความไม่เป็นธรรมที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่แกนนำ หลายคนยังอยู่ในคุก ดังนั้นการคืนความเป็นธรรมให้คนเหล่านี้ถือเป็นการปลดล็อก ความแค้นเคือง ความโกรธ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาได้

สำหรับกรณีรัฐบาลพยายามอ้างว่ามีการตั้งกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้วนั้น นายธนาธรกล่าวว่า เห็นได้ชัดว่ากรรมาธิการชุดนี้มีความจริงใจอย่างไร ที่ผ่านมาก็สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตลอดทำให้ขณะนี้ยังไม่เห็นความพยายามของฝ่ายรัฐบาล ที่จะถอยจุดยืนของตัวเอง

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษา ทบทวน การปฏิรูปกฎหมาย กล่าวภายหลังหารือแกนนำทางการเมืองของกลุ่ม นปช.และกลุ่มพันธมิตร รวมทั้งนักวิชาการว่า หลักๆที่พูดคุยกันวันนี้คือความขัดแย้งที่มีกันตั้งแต่ปี 2548 แต่ในเรื่องความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ยืนยันว่าสภาฯให้ความสำคัญ มีการเปิดโอกาสให้ ส.ส.อภิปราย เพื่อต้องการให้รัฐบาลฟังความเห็นของนักศึกษา เพราะความเห็นต่างทางการเมืองต้องรับฟังยิ่งเป็นนิสิต นักศึกษาที่จะมารับช่วงต่อทางการเมือง ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องความขัดแย้งใหม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลต้องชัดเจนว่ามีระยะเวลาแก้ไขอย่างไรเพื่อจะได้ทราบว่าในท้ายที่สุดจะมีการเลือกตั้งเมื่อใดเพื่อให้เกิดกติกาใหม่ที่เป็นธรรม

นอกจากการนิรโทษกรรมที่ให้รัฐบาลไปพิจารณาแล้วยังมีแนวทางอื่นๆ ที่อนุกรรมาธิการได้สรุปจากการหารือในวันนี้ โดยเฉพาะการลดความเกลียดชังระหว่างกลุ่ม การขออภัยต่อสังคม การให้เกียรติเยียวยาผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์และหันหน้าเข้ามาร่วมมือกันที่จะสร้างความปรองดอง โดยกรรมาธิการจะเสนอต่อสภาฯเพื่อเป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ