นายกฯ สั่งตั้งคกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี"บอส อยู่วิทยา" ให้รายงานภายใน 30 วัน

ข่าวการเมือง Wednesday July 29, 2020 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย, ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม, นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย, คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.63 เป็นต้นไป

สืบเนื่องจากพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ก.ย.55 พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาหลายข้อหาและผู้ต้องหาหลบหนีการดำเนินคดี ต่อมาคดีบางข้อหาได้ขาดอายุความ ในส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องจึงมีผลเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายซึ่งรวมถึงบุพการี บุตรและคู่สมรสที่จะฟ้องคดีเอง และขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นในการสั่งคดี หรืออาจขอดำเนินคดีใหม่เมื่อได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี หรือขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากรัฐ

โดยคดีนี้อยู่ในความรับรู้และสนใจของประชาชนต่อเนื่องมาโดยตลอดนับแต่เกิดเหตุเมื่อ พ.ศ.2555 เมื่อปรากฎผลการสั่งคดีอันป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นก่อนมีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อและสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ถือเป็นความอ่อนไหวกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นในองค์กร เจ้าหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม แม้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และแม้พนักงานสอบสวนจะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคคลเกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝาย ทั้งหากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชนในการปฏิรูปโดยเร่งด่วนต่อไป

สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดี และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใดโดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าวแล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจให้ขยายระยะเวลาอีกได้ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการรายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิบวัน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ