ฝ่ายค้าน-รัฐบาล-ส.ว.นัดหารือแก้ รธน.ด้านเพื่อไทยเตรียมยื่นญัตติแก้มาตรา 256

ข่าวการเมือง Tuesday August 4, 2020 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า ในวันนี้จะมีการประชุม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. จึงเห็นว่า 3 ฝ่ายควรจะต้องหารือกันเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติเห็นชอบให้มีการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้นตามข้อสรุปของคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับจุดยืนที่บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรค ส่วนจะเสนอเป็นญัตติเมื่อใดนั้น เบื้องต้นได้นำเรื่องหารือกับที่ประชุมวิปรัฐบาลแล้ว และจะหารือเป็นการภายในพรรคอีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค.นี้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาล หากผิดเงื่อนไขจะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า คงไม่ได้มองเรื่องการขีดเส้นตาย แต่พรรคมองว่าเป็น "เส้นเป็น" เพราะคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำงานอยู่ในกรอบเวลา ไม่ได้ล่าช้า และขณะนี้กระบวนการกำลังเดินหน้าไป โดยจะมีข้อสรุปรายงานเสร็จสิ้น และส่งต่อสภาฯ ในวันที่ 8 ก.ย.นี้

ส่วนนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้พรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ส่วนที่กฎหมายกำหนดให้การแก้ไขจะต้องผ่านการทำประชามติ แม้จะเป็นเรื่องยากเสียเวลาและเสียเงินก็ต้องดำเนินการ โดยมองมุมบวกว่าการใช้งบประมาณจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ไม่เชื่อว่า ส.ว. จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มาในขณะนี้ก็มีความมั่นใจว่า ส.ว.จะเสียสละเพื่อบ้านเมือง มากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วเห็นว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.บางส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าการดำเนินการจะไม่ช้า หลังจากญัตติผ่านก็จะใช้ระยะเวลาในการแก้มาตรา 256 ราว 5 เดือน จากนั้นก็จะเป็นการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีประเด็นชี้นำ ปล่อยให้คณะกรรมการดำเนินงานเป็นอิสระ แต่ฝ่ายการเมืองก็สามารถเสนอข้อคิดเห็นได้

พร้อมแนะว่า กระบวนการต้องมีการปรับการทำงานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ แต่อาจหยิบยกฉบับเก่ามาทำประชามติ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเห็นว่าในการแก้ไข หากจะทำให้เร็วก็เร็ว หากจะทำให้ช้าก็ช้า

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะออกความเห็นในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะสภาฯยังไม่มีการส่งเรื่องใดๆ มายังรัฐบาล อีกทั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ยังไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกัน รวมถึงข้อเสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นั้น ไม่ทราบความชัดเจนว่าจะตั้งในรูปแบบใด และคัดเลือกมาอย่างไร

แต่หากร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นการแก้ไขวิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดว่า อยากแก้ไขในส่วนใดก็ให้แก้ไขไป แต่หากจะแก้ไขในหมวดที่ 1 หลักการทั่วไป หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติขององค์กรอิสระ ซึ่งหากเป็นประเด็นเหล่านี้ ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา และต้องผ่านวาระที่ 1-3 จากนั้นให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ระหว่างนั้นอาจส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ โดยกำหนดเวลาไว้ 1 เดือน

ส่วนจะมีการแก้ไขอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาด้วยหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ประเด็นการแก้ไขอำนาจ ส.ว.ไม่ได้อยู่ในข้อประชามติ แต่หากไปแก้ไขวิธีการแก้ คือตั้ง สสร.แล้วผ่านประชามติก็สามารถทำได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ