รามคำแหงโพลล์ชี้ภาครัฐประสบความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 50 ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ แม้จะมีจำนวนผู้ที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญจบทั้งเล่มไม่ถึง 5%
"การประชาสัมพันธ์ของรัฐมีผลต่อการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่สามารถชักจูงให้ประชาชนอ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งเล่ม" นายอรัสธรรม พรหมมะ ประธานคณะกรรมการศูนย์ประชามติฯ ระบุในเอกสารเผยแพร่
จากผลสำรวจพบว่าประชาชนมีแนวโน้มที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติเพิ่มขึ้นจาก 27.9% ในการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.มาเป็น 61.2% และประชาชน 55.9% ระบุว่าจะออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งแรกเล็กน้อย(53.5%)
ทั้งนี้ หากแยกตามภูมิภาค คนภาคกลางและภาคตะวันออกมีสัดส่วนที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงมากสุดถึง 71.1% ตามด้วยคนกรุงเทพฯ 67.7%, คนภาคเหนือ 66.3%, คนภาคอีสาน 63.7% ส่วนคนใต้มีสัดส่วนต่ำสุดแค่ 42.7%
ส่วนประเด็นการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น คนกรุงเทพฯ คิดว่าควรเห็นชอบกับไม่แน่ใจเท่ากันคือ 44%, คนภาคกลางและตะวันออกเห็นชอบ 52.5%, คนภาคเหนือเห็นชอบ 51.5%, คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นชอบ 56.5% แต่คนภาคใต้เห็นชอบมากสุด 66.3%
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไปยังครัวเรือนแล้ว มีประชาชนที่อ่านจบทั้งเล่ม 4.5% ส่วนประชาชนที่ไม่เคยอ่านเลยมีสูงถึง 34.2% แต่ประชาชน 96.5% รู้ว่าจะมีการลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค. และ 86.1% รู้ว่าเป็นการลงประชามติครั้งแรกในประเทศไทย
ศูนย์ประชามติคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้สำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 3,470 คน ในหัวข้อ "การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ:ควรเห็นชอบหรือไม่" โดยเป็นการสำรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.-2 ส.ค.50 หลังจากมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไปยังครัวเรือนทั่วประเทศและประชาสัมพันธ์จากภาครัฐแล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--