นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า กรณีที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้มีตัวเลขการว่างงานมากถึง 8 ล้านคนนั้นไม่เป็นความจริง ตัวเลขดังกล่าวไม่มีหลักฐานอ้างอิง ตนเองในฐานะ รมว.แรงงาน จำเป็นต้องยึดถือตัวเลขจากข้อมูลแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งมีผู้ประกันตนทั้งหมดตามมาตรา 33-39-40 ประมาณ 16.3 ล้านคน และช่วงโควิด-19 ผู้ที่ประกันตนได้รับเงินชดเชยจากการว่างงานจริงๆ จำนวน 714,268 คน วงเงิน 17,224 ล้านบาท
"ต้องขอขอบคุณหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและสมาชิกฝ่ายค้านที่เสนอข้อมูล และทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในภาคแรงงาน ทั้งนี้ข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ทางกระทรวงแรงงานพร้อมรับและรับไปดำเนินการทันที ซึ่งปัญหาคนว่างงานนั้นเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความห่วงใยเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้เร่งรัดแก้ไขตามกลไกลต่างๆ ของกระทรวง" นายสุชาติ กล่าว
โดยในช่วงเดือน มี.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลต้องปิดกิจการที่สุ่มเสี่ยงชั่วคราว และสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายชดเชย 62% จำนวน 90 วัน เป็นจำนวน 9 แสนกว่าคน ซึ่งขณะนี้สถานประกอบการต่างๆ ได้กลับมาเปิดกิจการเป็นปกติแล้ว เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านสปา โรงหนัง โรงแรม เป็นต้น
รมว.แรงงาน กล่าวว่า ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่ารัฐบาลดูแลผู้ใช้แรงงานไม่ทั่วถึง และขาดมาตรการช่วยหางานใหม่นั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ ผ่านกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ อาทิ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการจ้างงานของรัฐที่มีการจ้างแล้ว 209,930 คน จากเป้าหมาย 410,415 คน โดยกระทรวงแรงงานเตรียมใช้งบประมาณปี 64 จ้างงานเพิ่มอีก 5,000 คน และที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมีหลักประกันที่ 3% ต่อปีให้ผู้ประกอบการวงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อรักษาผู้ใช้แรงงานให้คงมีงานทำ โดยตนเองจะเข้าไปเร่งรัดให้มีการปล่อยสินเชื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติจำนวน 63 ราย สามารถรักษาการจ้างงานได้ 8,158 คน คิดเป็นวงเงิน 387 ล้านบาท
นอกจากนี้จะผลักดันศูนย์การงานแห่งชาติที่ตนเองจะเป็นประธานกำกับดูแลเอง เพื่อจัดหาตลาดงาน และจับคู่ตำแหน่งต่างๆ ที่เหมาะสมให้แก่ประชาชน ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานจัดหางานทุกจังหวัดดำเนินภารกิจนี้อย่างเร่งด่วน รวมทั้งผลักดันเรื่องดิจิตอลแพลตฟอร์มแบบ One-stop platform "ไทยมีงานทำ" ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อรองรับแรงงาน 400,000 ตำแหน่ง อีกทั้งยังเป็นช่องทางยกระดับ ปรับทักษะให้แรงงานเพื่อเข้าสู่อาชีพที่ประชาชนสนใจคาดว่าจะเปิดให้บริหารสิ้นเดือน ส.ค.นี้ รวมทั้งเปิดตลาดในต่างประเทศ โดยตนเองได้นัดหมายพูดคุยกับสมาคมส่งคนงานไปต่างประเทศ เพื่อทราบว่ามีจำนวนต้องการเท่าไหร่ อะไรที่ติดขัดทำอย่างไรให้กระทรวงแรงงานช่วยอะไรตรงไหนบ้าง เพื่อที่หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย อาทิ ไต้หวั่น ญี่ปุ่น อิสราเอล เกาหลีใต้เป็นต้น
"รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชน และเร่งสร้างงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนเป็นการถอดเครื่องช่วยหายใจในห้อง ICU เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายขาด ดังนั้นข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำเสนออาจเป็นด้านเดียวที่ยังไม่ครบถ้วน ทั้งที่เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องต้องมานั่งคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อให้ตั้งต้นตรงกัน ซึ่งผมยินดีเข้าไปรับฟังเพื่อช่วยกันทำงานแบบสร้างสรรค์เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองด้วยกัน และพร้อมแก้ไขปัญหาต่างๆไปในทิศทางเดียวกัน" นายสุชาติ กล่าว