พรรคร่วมฝ่ายค้าน เตรียมยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรวันนี้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจาก ส.ส.ฝ่ายค้านลงชื่อสนับสนุนเกินกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ในสภาฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า เมื่อสภาผู้แทนฯ ได้รับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วก็จะมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม โดยคาดว่าจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ได้ทันสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะพิจารณาไปตามปกติ 3 วาระ ซึ่งแต่ละวาระมีขั้นตอนที่ยากพอสมควร
ขณะที่ความคืบหน้าการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายชวน กล่าวว่า ทราบว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะรอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปผลการศึกษาและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน โดยคาดว่าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลก็น่าจะทันพิจารณาพร้อมกับญัตติของฝ่ายค้าน
ส่วนกรณีที่มี ส.ว.เสนอให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ และหาทางออกความขัดแย้งในประเทศร่วมกันว่า สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาได้ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกรายใดเสนอเรื่องมา
นายชวน ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) เนื่องจากเพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด แต่เห็นว่าภาพรวมและบรรยากาศการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิตนักศึกษาให้ยุบวุฒิสมาชิกภายในเดือน ก.ย.นี้ว่า เป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องไปพิจารณาและหารือกับ ส.ว.คนอื่น ซึ่งความเป็นไปได้จำเป็นต้องดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย และคงเป็นไปได้ยากในทางนิติบัญญัติที่จะทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย. จึงต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มที่เรียกร้องว่าการคงอยู่ของ ส.ว. รวมทั้งการคงอยู่ของฝ่ายบริหารต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
"จะบอกให้คนนั้นคนนี้ออก หรือแม้กระทั่งข้าราชการตัวเล็กๆ ที่จะต้องให้ไปจากราชการ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย คงจะไปใช้มาตรการอะไรที่บอกไม่ได้ว่ามาจากอำนาจอะไร คงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับน้องๆ คือบางครั้งเราก็อาจจะเข้าใจผิดบ้าง เช่นบ้านเรามีครอบครัว มีคนใช้ เราอยากให้เขาไป บางครั้งก็ไล่เขาไปไม่ได้เหมือนกันนะ เขาก็มีสิทธิอะไรบางอย่าง" นายพรเพชร กล่าว
ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน หากเป็นมาตราที่ไม่สำคัญมากก็สามารถแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่หากเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องฟังเสียงประชาชนทั้งหมดด้วยการทำประชามติ ส่วนการแก้ไขในประเด็นที่กระทบกับอำนาจวุฒิสภานั้น ไม่ใช่จะทำไม่ได้ แต่ต้องผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ถึง 272 เพื่อตัด ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลทั้ง 250 คนออกไปว่า ส.ว.ทุกคนเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนว่าเมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนก็ต้องรับฟัง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องให้เกิดความชัดเจนว่าไม่ว่าจะชอบหรือชังรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ตามระบบที่มีอยู่จำเป็นจะต้องมีเสียง ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คน ทั้งในการพิจารณาวาระที่ 1 และวาระที่ 3
"ถ้าจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปอย่างไรจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ หรือจะแก้ไขรายประเด็น หรือจะไม่ชอบวุฒิสภายังไงก็ตามแต่ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา 84 คน ไม่เช่นนั้นก็มีแค่ 2 วิธีคือ การรัฐประหารอีกครั้ง เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างกันใหม่ หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดการปฏิวัติประชาชนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้ง 2 ทางมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองทั้งสิ้น จึงเห็นควรว่าให้ใช้เวทีรัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหา"นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ เชื่อว่า ส.ว.ทุกคนพร้อมลงมติตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน แต่ขณะนี้จะให้แต่ละคนบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่เห็นโจทย์ โดยวุฒิสภาก็พร้อมติดตามอย่างใกล้ชิด และหากมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็พร้อมนำมาศึกษาในคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา หรือ ส.ว.แต่ละคนก็จะนำมาศึกษา เพื่อตัดสินใจประกอบการลงมติ
ทั้งนี้ ความคืบหน้าเบื้องต้นจะอยู่ที่สัปดาห์นี้พรรคฝ่ายค้านจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาล รวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งมีกำหนดจะรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ก.ย.
และถ้ามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรคฝ่ายค้านเข้ามา คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องเสนอร่างของรัฐบาลเข้ามาประกบเพื่อพิจารณาร่วมกันด้วย ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นโจทก์ก็จะชัดเจนมากขึ้นว่ามีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมดกี่ร่าง รวมถึงร่างที่ประชาชนจะนำเสนอเข้ามาด้วย ซึ่งจะได้นำมาศึกษาและตัดสินใจกัน
นายคำนูณ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ ส.ว.ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นคณะกรรมาธิการของ ส.ส. แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบของ ส.ว.ถึง 84 คน ซึ่งตนเองเคยเรียกร้องตั้งแต่ปีที่แล้ว และล่าสุดยังเสนออยู่ว่าสมควรจะมีเวทีให้ตัวแทนของ ส.ว.เข้าไปร่วมหารือด้วย ขณะนี้ก็ยังสามารถทำได้ และไม่ใช่เฉพาะแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถทำได้โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 สุดแท้แต่นายกรัฐมนตรี แต่ทางวุฒิสภาก็ตอบได้เพียงเจตนาที่พร้อมจะให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ แม้ จะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสถานภาพของวุฒิสภาเอง โดยเชื่อว่า ส.ว.ทุกคนไม่ได้ยึดติด