กรรมการ ป.ป.ช.รายใหม่ไฟแรง นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี วัย 58 ปี ที่ได้รับคัดเลือกจากวุฒิสภาให้เป็น 1 ใน 2 กรรมการ ป.ป.ช.รายใหม่ ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่งนาน 7 ปี ตั้งความหวังที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นที่พึ่งพาได้ ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม
โดยชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้มาจากส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 อย่างด้วยกัน คือ 1.ความสุจริตของคู่ความ ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง 2.ความสุจริตของพยานหลักฐาน ไม่มีการสร้างพยานเท็จ 3.ความสุจริตของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ไม่มีการรับสินบน และ 4.ความสุจริตในการใช้ข้อกฎหมาย
"คดีซาเล้งขายซีดีเถื่อนสองแผ่นแล้วถูกพิพากษาปรับเงินเป็นแสน เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ศาลไม่มีทางออกไปทางอื่น...ความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่ความเก่งความดีของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องสุจริต" นายสุชาติ กล่าว
นายสุชาติ กล่าวว่า การตรวจสอบของ ป.ป.ช.ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นที่มีอำนาจก้ำกึ่งระหว่างตำรวจกับอัยการ โดยก่อนลงมติชี้มูลความผิดตามข้อกล่าวหาจะต้องแสวงหาพยานหลักฐานเอง เพื่อชี้ให้เห็นถึงการกระทำความผิดดังกล่าว แต่หากยังมีข้อสงสัยก็สามารถสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ขณะที่ศาลนั้นจะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอเท่านั้น
"คำวินิจฉัยของเรา (ป.ป.ช.) เป็นแค่ความเชื่อเบื้องต้นว่าผู้ถูกกล่าวหาน่าจะกระทำความผิด...ขอให้เชื่อมั่นได้ว่า ป.ป.ช.จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้แน่นอน" นายสุชาติ กล่าว
ทั้งนี้ตนเองมีแนวคิดจะเปิดเผยรายละเอียดของการไต่สวนคดีที่มีผู้สนใจมากหลังจากคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว เพื่อคลายข้อสงสัยของสังคม เช่น ทำไมกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.จึงใช้เวลายาวนาน โดยอาจรวบรวมไว้ในหนังสือรายงานประจำปี และต้องยอมรับว่าการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นคดีระดับชาติ แต่ส่วนตัวไม่กังวลการตรวจสอบนักการเมืองที่มีอิทธิพล
"ถ้าเรื่องเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.แล้วจะไม่ล่าช้า ทุกเรื่องถ้าจะช้าก็คือไต่สวนเพิ่มเติม นอกนั้นวินิจฉัยหมดชี้มูลหมด เพราะความล่าช้าถือว่าไม่ยุติธรรม" นายสุชาติ กล่าว
สำหรับการทำงานของกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนนั้นจะแบ่งความรับผิดชอบงานของ 20 กระทรวง องค์กรอิสระ และพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศที่แบ่งเป็น 9 ภูมิภาค แต่หากเป็นเรื่องใดมีสำคัญเป็นพิเศษก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่
นายสุชาติ กล่าวว่า ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเป็นสิ่งที่คนทำงานมุ่งหวัง ซึ่งสะท้อนจากความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นถึงการทำงานที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และทำงานด้วยความรวดเร็ว ซึ่งองค์กรจะกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว ขณะเดียวกันการวางตัวของบุคลากรในหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมจะมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับจริยธรรมค่อนข้างเคร่งครัด ทำให้มีคนรู้จักในวงค่อนข้างจำกัด ต้องค่อยระมัดระวังตัวไม่ให้เกิดเรื่องเสื่อมเสียมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ลำบากใจเพราะเคยทำงานในกระบวนการยุติธรรมมาตลอด
"ทุกวันนี้แม้แต่กรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคน ผมยังไม่กล้าเดินไปคุยส่วนตัวเลย มีอะไรก็ไปพูดในห้องประชุม อยู่วงการนี้ยิ่งอยู่ยิ่งเพื่อนน้อยลงทุกที" นายสุชาติ กล่าว