นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานอนุคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 สภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า มีการล็อบบี้สั่งการให้อนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ โหวตเห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำของกองทัพเรือ วงเงิน 22,550 ล้านบาท
โดยเพื่อนที่เป็นอนุ กมธ.ซีกรัฐบาลบอกข้อมูลมาว่ามีบิ๊กรัฐบาลโทรศัพท์มาล็อบบี้ให้โหวตสนับสนุนการซื้อเรือดำน้ำ เพราะก่อนหน้านี้วันที่ 17 ส.ค.63 ที่ประชุมอนุ กมธ.ทุกคนไม่มีใครเห็นด้วยให้จัดซื้อเรือดำน้ำ แม้ว่ากองทัพเรือยืนยันความจำเป็นต้องจัดซื้อ เพราะมีสัญญา G to G ผูกพัน และมีเอกสารการลงนามระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กับรมว.กลาโหมจีน ที่ตกลงจะซื้อเรือดำน้ำ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้แขวนเรื่องนี้ไว้ก่อน
ต่อมาวันที่ 21 ส.ค.63 กองทัพเรือได้นำเอกสารมาชี้แจงต่อที่ประชุม อนุ กมธ. แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีแค่การระบุว่าให้ซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1 แค่ลำเดียว ไม่ได้ข้อผูกพันว่าจะต้องซื้อลำที่ 2และ 3 และเอกสารที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ไปลงนามร่วมกับรมว.กลาโหมจีนก็ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อเรือดำน้ำ
ที่สำคัญเอกสารการลงนามซื้อเรือดำน้ำลำแรกที่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ไปลงนามจัดซื้อนั้น เป็นการลงนามกับบริษัท ไชน่าชิปบิ้วดิ้งออฟชอว์ ถึงจะอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ใช่รัฐบาลจีน ถือว่าเป็นการลงนามไม่ถูกต้อง ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาเคยระบุไว้ในคดีจำนำข้าวว่าการทำจีทูจีต้องเป็นการทำระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น
ทั้งนี้ในการประชุมอนุกมธ.วันที่ 21 ส.ค. 63 กองทัพเรือได้ยืนยันถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่สามารถเลื่อนการจัดซื้อได้อีกแล้ว แต่ปรากฏว่า อนุกมธ.ที่เคยคัดค้านกลับลำมาอนุมัติให้ซื้อเรือดำน้ำได้ จะเป็นไปได้อย่างไรหากไม่มีใครสั่งมา จึงขอท้าให้เปิดบันทึกชวเลขในที่ประชุมวันที่ 17 ส.ค.63 จะได้รู้ว่าใครพูดไว้อย่างไรบ้าง เรื่องนี้ต้องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)แน่นอน เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ในการประชุม กมธ.งบประมาณชุดใหญ่วันที่ 26 ส.ค.นี้ จะขอให้ทบทวนมติของอนุ กมธ. เพราะกองทัพเรือชี้แจงได้ไม่เคลียร์ สัญญา G to G ไม่มีผลผูกพันกับการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ถึงจะเป็นงบประมาณเดิมที่ตั้งไว้ตั้งแต่งบประมาณปี 63 แต่ขณะนี้งบประมาณปี 64 วิกฤติโควิดยังคงอยู่ จึงอยากให้เลื่อนการจัดซื้อไป 1 ปี เพราะเรือดำน้ำลำแรกจะได้มาในปี 67 ควรรอให้ได้ลำแรกมาก่อน แล้วค่อยซื้อลำที่ 2 และ 3 หรือเลื่อนการตกลงซื้อลำที่ 2-3 ไปปีหน้า เพราะขณะนี้ประชาชนกำลังลำบาก
ด้านนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.คุรุภันฑ์ฯ กล่าวว่า การตัดสินใจสนับสนุนการซื้อเรือดำน้ำนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเรื่องนี้ได้แขวนไว้แล้ว 1 รอบแล้ว เท่าที่ฟังเสียง กมธ. ส่วนใหญ่ในรอบแรกพยายามให้กองทัพเรือเลื่อนการจัดซื้อออกไปก่อน แต่กองทัพเรือได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นว่าเลื่อนไม่ได้ เนื่องจากกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกันกองทัพเรือยังยืนยันหน้าที่ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ทางทะเลทั้งด้าน ปิโตรเลียม ประมง และการขนส่งสินค้า ที่สำคัญมันผูกพันงบฯ และเป็นกฎหมายมาตั้งแต่ปี 63 ซึ่งเราแค่ยืนยันให้เขาดำเนินการต่อตามข้อตกลงกับทางจีนเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าที่อนุมัติไว้แล้ว