นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงว่า พรรคเตรียมพร้อมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ถึง 272 เกี่ยวกับ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว.เพราะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เป็นกล่องดวงใจในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ทำลายเจตจำนงของประชาชน ขัดต่อหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น จึงขอเชิญชวน ส.ส.ร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติภายในสมัยประชุมนี้ โดยไม่จำเป็นต้องให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ดำเนินการ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องใช้เวลาอีกเกือบ 2 ปีจึงจะแล้วเสร็จ และยังไม่รู้ว่ากระบวนการตั้ง ส.ส.ร.จะถูกเตะถ่วงไปอีกนานแค่ไหน
ส่วนที่มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่ ส.ว.จะร่วมลงมติเห็นชอบนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดที่มีอยู่ แต่กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ได้มาจากการยินยอมพร้อมใจของรัฐบาล หรือ ส.ว.แต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากเสียงเรียกร้องกดดันของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ จนถึงขนาด ส.ว.บางคนก็ออกมายอมรับว่า ควรยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี
แต่ด้วยโอกาสความเป็นไปได้ ทางพรรคก้าวไกลก็จะเสนอแยกออกเป็น 3 ญัตติ คือ ญัตติแก้ไขยกเลิกมาตรา 269, ญัตติแก้ไขยกเลิกมาตรา 270 ถึง 271 และญัตติแก้ไขยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งหากได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เพื่อเสนอญัตติไม่ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทางพรรคก้าวไกลก็จะเปิดเวทีทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามประชาชนต่อไป
สำหรับกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติของพรรคก้าวไกลนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า ประชาชนมีฉันทานุมัติอยู่แล้วว่าควรแก้ไข ส.ว.บทเฉพาะกาล โดยไม่ต้องรอ ส.ส.ร.
ส่วนญัตติของพรรคเพื่อไทยที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติด้วย เนื่องจากเห็นแย้งว่าไม่ควรล็อกไม่ให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 แต่เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นต่างออกไป พรรคก้าวไกลจึงขอถอนชื่อออกจากญัตติ แต่ยืนยันว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล จะโหวตสนับสนุนรับหลักการวาระที่ 1 แต่จะขอแปรญัตติเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวาระที่ 2 เพื่อให้ ส.ส.ร.สามารถทำงานสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ไม่ปิดกั้นความคิดความฝันของกลุ่มใด ซึ่งสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นเช่นไร โดยผ่านกลไกลของ ส.ส.ร.และการทำประชามติ