"พีระพันธุ์"เล็งส่งรายงานศึกษาแนวทางแก้ รธน.ฉบับ กมธ.เสนอ ปธ.สภา 31 ส.ค.

ข่าวการเมือง Thursday August 27, 2020 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้การจัดทำรายงานของคณะกรรมาธิการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว วันนี้จะเป็นการประชุมเพื่อตรวจสอบรับรองรายงานก่อนนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หากทุกอย่างเรียบร้อยคาดว่าวันที่ 31 ส.ค.นี้จะยื่นรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

สำหรับเนื้อหารายงานนั้นไม่ได้เป็นลักษณะข้อสรุป เพราะ กมธ.ชุดนี้ทำหน้าที่ศึกษาทั้งข้อดี-ข้อเสียและแง่มุมต่างๆ ทั้งที่มีความเห็นตรงกันว่าให้แก้ไขและไม่ให้แก้ไข หรือแก้ไขในวิธีการที่ต่างกัน บางคนเห็นตรงกันในหลักการแต่ละรายละเอียดต่างกัน ซึ่งจะนำเสนอความคิดเห็นแง่มุมต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รายงานของ กมธ.ไม่ได้มีแต่เรื่องการเมืองและการเลือกตั้ง เพราะหัวใจรัฐธรรมนูญคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่แค่เรื่องทางการเมือง แต่ที่ผ่านมามักเน้นด้านการเมืองจนทำให้ประชาชนขาดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ กมธ.ได้ศึกษานั้นครบถ้วนทุกด้านทุกหมวด โดยเฉพาะเรื่องหลักประกัน เช่น ที่ดินทำกิน หรือกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีหลักประกันมากขึ้น

นอกจากนั้น ระบบกฎหมายจะมีลักษณะผ่อนปรนเป็นการกำกับดูแลมากกว่าควบคุมในส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวม ความมั่นคง หรือสาธารณะประโยชน์ เช่น การขออนุญาตทำมาค้าขาย การประกอบธุรกิจ สามารถดำเนินการไปได้ โดยให้หน่วยราชการตรวจสอบต่อไป ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง

ส่วนเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่หลายพรรคเห็นตรงกันว่าควรยกเลิกนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ความเห็นด้านนี้มีในรายงาน ซึ่งก็มีที่ระบุว่าแบบเดิมเหมาะสมแล้ว โดยได้ใส่หลักการและเหตุผลไว้ด้วย ขอย้ำว่าในรายงานไม่ได้มีบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่ศึกษาว่าบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ถูกต้องเหมาะสมไว้หรือไม่ ใส่ความเห็นทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย ซึ่งเป็นเอกสารทางวิชาการมากกว่า

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตามขั้นตอนนั้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วก็จะส่งรายงานฉบับนี้ไปให้รัฐบาล โดยหลักการรัฐบาลก็ควรที่จะต้องเอารายงานนี้ไปศึกษาประกอบ แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ อยู่ที่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต่อไปว่าจะให้ความสำคัญกับรายงานของ กมธ.แค่ไหน ซึ่งก็ไม่ได้มีบทบังคับไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ