กลุ่มไทยรักไทยประกาศยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังรู้ผลประชามติอย่างไม่เป็นทางการ แม้จะยืนยันว่าการทำประชามติไม่ถูกต้องตามหลักการ เตรียมประชุมพรรคพลังประชาชน 24 ส.ค.นี้ เลือกหัวหน้าพรรค-กำหนดนโยบาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ระบุผลประชามติที่ออกมา ไม่ได้วัดความนิยมระหว่าง ทรท.-คมช.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายชูศักดิ์ ศิรินิล แกนนำกลุ่มไทยรักไทย แถลงหลังทราบผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างไม่เป็นทางการ โดยนายจาตุรนต์ กล่าวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นความเห็นของกลุ่มอดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทยยอมรับผลการประชามติที่เกิดขึ้น และจะไม่มีการเรียกร้องให้ทำประชามติใหม่
"เราจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และให้ทุกอย่างเดินไปตามกำหนดการต่อไป คือ การจัดให้มีการเลือกตั้ง"นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แม้จะยอมรับการทำประชามติ แต่ขอยืนยันว่า การทำประชามติครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามหลักการหลายประการ เช่น การแสดงออกอย่างชัดเจนของส่วนต่างๆ ที่ต้องการให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ การปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทั้งในพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึกและไม่ประกาศกฎอัยการ มีการชี้นำจากฝ่ายที่สนับสนุนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง เป็นการใช้จุดอ่อนของประชาชนจำนวนมากที่อยากให้เหตุการณ์ความขัดแย้งยุติโดยเร็วมาใช้ โดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ
"เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เราก็จะช่วยประคับประคองเพื่อไม่ให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งในลักษณะเผชิญหน้า และนำไปสู่ความรุนแรง จากนี้ไปกลุ่มไทยรักไทยจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง จะนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายหาเสียงด้วย เพราะเรายังคงยืนยันว่า รัฐธรรมนูญยังไม่เป็นประชาธิปไตย และคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่เราก็จะร่วมมือกับประชาชน ผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไป" นายจาตุรนต์ กล่าว
นอกจากนี้ ทางพรรคจะขอรวบรวมผลการทำประชามติครั้งนี้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปในโอกาสข้างหน้า เพราะมีตัวแปรที่ทำให้ผลออกมาเช่นนี้ เช่น การให้ข้อมูลฝ่ายเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบให้ข้อมูล การสกัดกั้นจากภาครัฐด้วยวิธีการต่าง ๆ
และผลการลงประชามติครั้งนี้ไม่ใช่ตัววัดความนิยมระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และพรรคไทยรักไทยเดิม เพราะโพลล์ที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ให้ความเห็นชอบไม่ได้ดูเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ แต่พิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
นายจาตุรนต์ กล่าวยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อาจมีการใช้อำนาจรัฐ เพราะถ้าภาครัฐ และ คมช.สามารถกำหนดความเป็นไป การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร ดังนั้น จะต้องมีการป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้คุณให้โทษกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และว่า กลุ่มไทยรักไทยจะเดินหน้าในนามของพรรคพลังประชาชน แม้ว่าจะมีการสกัดกั้นก็ตาม ขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้าน นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มไทยรักไทยที่ไปสังกัดพรรคพลังประชาชนยังยึดมั่นใจอุดมการณ์เดิม และวันที่ 24 สิงหาคม จะมีการประชุมพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกำหนดนโยบาย จากนั้นจะเดินหน้าเตรียมการเลือกตั้งต่อไป เชื่อมั่นว่าอดีต ส.ส.ไทยรักไทยยังคงอยู่ร่วมกัน ส่วนจะมีการย้ายไปสังกัดพรรคอื่นหรือไม่ เวลานี้ยังบอกไม่ได้ เพราะอาจจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--