นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฯ ลงชื่อในญัตติแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นว่า ที่ผ่านมาพรรคฯ ได้มีมติยื่นญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงร่างเดียวคือ การแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนมาตรา 272 ในเรื่องของอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา มีการพูดคุยกันในที่ประชุม แต่ได้มีความเห็นว่า หากมีการตั้ง ส.ส.ร. ได้แล้ว ทุกคนสามารถนำประเด็นต่าง ๆ ไปยกกันใหม่ใน ส.ส.ร. ได้เลย ซึ่งก็มีอีกหลายเรื่องเช่นกันที่ต้องทำให้ปรากฏเป็นผลสำเร็จในชั้น ส.ส.ร. ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ที่ควรให้มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย แต่ไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ระบบเลือกตั้ง ระบบถ่วงดุล รวมไปถึงบทเฉพาะกาลด้วย ทั้งหมดนี้เป็นหลักการในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้แม้ว่าพรรคฯ ไม่เห็นด้วยในเรื่องอำนาจของ ส.ว. มาตั้งแต่ต้น และอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้มี ส.ส.ร. ให้เร็วที่สุด จึงอยากให้ทุกคน ทุกกลุ่ม มาร่วมต่อสู้ในแนวคิดต่างๆ เพื่อให้ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. อย่างแท้จริง หากเห็นว่าช้าไปทุกคนก็ต้องรีบนั้น แต่เมื่อญัตติแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภาก็จะมีการดำเนินการให้รวดเร็ว เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ให้เร็วที่สุด ถ้าเห็นว่าเวลาที่ใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นมากเกินไปก็สามารถแปรญัตติได้เลยว่า ให้ ส.ส.ร. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในกี่วัน เพื่อให้เวลาสั้นลงที่สุด ซึ่งสามารถทำได้หมด
การที่ทุกคนเรียกร้องให้มี ส.ส.ร. มาตั้งแต่ต้น ทุกคนก็ต้องให้ความสำคัญต่อ การตั้ง ส.ส.ร. ไม่เช่นนั้น หากมีการนำประเด็นบางประเด็นไปขยายผลต่อว่า การตั้ง ส.ส.ร. เป็นไปเพื่อซื้อเวลา ก็จะไม่เป็นผลดี เชื่อว่าทุกคนจะเห็นตรงกันว่าเราต้องช่วยกันประคับประคองประเทศ ส่วนเรื่องการคิดต่างกันนั้นไม่เป็นไร และขอให้ว่ากันด้วยเหตุด้วยผล แต่ไม่อยากให้ความเห็นต่างนำไปสู่การเกิดความแตกแยก ซึ่งเราไม่ควรสร้างเงื่อนไขเพื่อให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยเข้ามาได้
ส่วนประเด็นที่ ส.ส.ของพรรคฯ ลงชื่อร่วมกับพรรคอื่นเพื่อแก้มาตรา 272 นั้น นายราเมศกล่าวว่า ตนยังไม่เคยเห็นตัวร่าง เพราะไม่ได้เสนอผ่านพรรค ส่วนเหตุผลใดที่ทุกคนลงชื่อนั้น คงไปตอบแทนไม่ได้ เพราะถ้าให้ตนตอบคงตอบได้เพียงเหตุผลของร่างที่ผ่านจากมติพรรคเพียงเท่านั้น