นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ย.) ว่า ฝ่ายค้านจะอภิปรายภาพรวมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว นำไปสู่ผลทางการเมือง ที่มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชน ซึ่งมีที่มาจากความเสื่อมทางเศรษฐกิจ และปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ล่าช้า
ทั้งนี้ ฝ่ายค้านจะซักถามและเสนอแนะการแก้ปัญหา และแม้รัฐบาลจะชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว แต่ก็จะสอบถามเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณส่วนอื่นๆ ที่สิ้นเปลือง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ว่ายังมีงบประมาณรองรับหรือไม่ หรือจะต้องยอมตายไปกับการระบาดรอบ 2 และมั่นใจว่าแม้จะไม่มีการลงมติ แต่บรรยากาศคงไม่ต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะสามารถชี้ถูกผิดให้สังคมเห็นได้
โดยจะแบ่งเวลาการอภิปรายตามสัดส่วน ส.ส.ที่มีของแต่ละพรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทยประมาณ 315 นาที , พรรคก้าวไกลประมาณ 150 นาที , และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่มี รวมทั้งหมดของฝ่ายค้านคือ 10 ชั่วโมง ส่วนฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 9.30 น. ถึงเวลาประมาณ 24.00 น.เศษ
นายสุทิน กล่าวว่า การอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ไม่ได้มีจงใจหรือมีเจตนาเพื่อให้เป็นประเด็นต่อยอด ในการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ แต่ก็อาจเป็นประเด็นในการชุมนุมได้เช่นกัน และหากฝ่ายรัฐบาลชี้แจงได้ดีก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจลดราวาศอกได้
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติยกเลิกอำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในมาตรา 272 นายสุทิน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีการวางแนวทางทั้งการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และการเตรียมความพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไว้เป็นไม้ 2 แต่เมื่อเริ่มมีการพูดถึงการเสนอยกเลิกมาตรา 272 ที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็จะมีการหารือกันวันนี้ว่าจะยื่นญัตติหรือไม่ หากตัดสินใจยื่นญัตติก็ต้องมาตกลงกันว่าจะร่วมลงชื่อในญัตติของพรรคก้าวไกล หรือใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก แล้วให้พรรคอื่นๆ ร่วมลงชื่อ ซึ่งเสียงที่พรรคเพื่อไทยมีก็เพียงพอที่จะยื่นญัตติอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้พรรคการเมืองอื่น ๆ มาร่วมเสนอชื่อในญัตติร่วมกัน และต้องรอดูท่าทีจะทุกฝ่ายรวมถึง ส.ว.ด้วย และหากยกเลิกอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.แล้ว ก็ควรแก้ไขระบบเลือกตั้งควบคู่ไปด้วย