นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำประชามติ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รายงานค่าใช้จ่ายในการจัดทำประชามติว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติจะมีค่าใช้จ่ายราว 3,000 ล้านบาท แต่หากเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพ่รระบาดของโควิด-19 จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 4,000 ล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาและที่ภาคประชาชนเสนอ ทั้งนี้ มาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติ ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมายเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ โดยที่ผ่านมาใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ซึ่งวันนี้ ครม.เห็นชอบแล้ว ลำดับต่อไปจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน
"การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้สอดรับไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 (8) บัญญัติไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีการทำประชามติ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมายการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญปี 2560" น.ส.รัชดา กล่าว
โดยกฎหมายฉบับนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกเสียงประชามติ โดยยังคงหลักการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
1.กำหนดให้การออกเสียงประชามติ มี 2 กรณี คือ
กรณีมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ครม.จะขอให้มีการออกเสียงในเรื่องที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใด เพื่อให้มีข้อยุติ หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา
กรณีมาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศมีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา
2.กำหนดให้การออกเสียงใช้วิธีลงคะแนนโดยตรงและลับ การออกเสียงจะถือว่ายุติก็ต่อเมื่อมีผู้ออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
3.กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องจัดทำประชามติ ต้องดำเนินการให้ข้อมูลการจัดทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างเพียงพอ
4.กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียง ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
5.กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษ เช่น กำหนดโทษจำคุก (1-10 ปี) ปรับ หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง (ไม่เกิน 5 ปี) และกรณีศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดตามฐานความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ และเป็นผู้กระทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริต ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการออกเสียงในหน่วยนั้นด้วย
ทั้งนี้ หากมีการจัดการออกเสียงประชามติทั่วประเทศอาจต้องใช้งประมาณราว 3,150.69 ล้านบาท และถ้ามีการใช้มาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปด้วย อาจทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4,062.73 ล้านบาท และในลำดับต่อไป จะส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป ส่วนการออกกฎหมายลำดับรอง มีจำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... จะดำเนินการหลังร่าง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้แล้ว 180 วัน
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการใช้สิทธิออกเสียง "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" ในเรื่องสำคัญๆ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องอื่นที่ ครม. ขอให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย