กลุ่มอดีตประธานวุฒิสภา-สภาฯ นัดหารือทางออกประเทศ หนุนแก้มาตรา 272 ก่อนแก้มาตรา 256

ข่าวการเมือง Tuesday September 8, 2020 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา, นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา, นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา นัดประชุมระดมความคิดหาทางออกวิกฤติการเมืองไทย ขณะที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้เดินทางมาร่วมหารือ แต่ได้โทรศัพท์มาร่วมแสดงความเห็นและรับทราบถึงแนวทางที่หารือกัน

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ว่าขณะนี้รัฐบาลมีปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีควรเสียสละลาออก โดยไม่ควรรอให้สถานการณ์รุนแรงบานปลายไปมากกว่านี้ ซึ่งถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เหมือนกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจลาออกซึ่งถือเป็นทางลงที่ดีสามารถอยู่ต่อในสังคมได้โดยไม่มีปัญหา

แต่ขณะเดียวกันก็มีอดีตนายกฯ ที่เป็นอดีตผู้นำเหล่าทัพ เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีอำนาจพรรคการเมืองสนับสนุนแต่ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง สุดท้ายต้องหนีไปต่างประเทศ เช่นเดียวกับจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของประชาชน ดังนั้นขณะนี้ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั้งสองด้าน ควรตัดสินใจและเลือกว่าจะเป็นแบบไหน

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกแล้วใครจะมาดำรงตำแหน่งแทนนั้น ควรให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน ซึ่งสมัยที่ตนเองเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พล.อ.ชวลิต ลาออก ก็ได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาหารือและสุดท้ายที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเลือก นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นนายกฯ ต่อมาถึง 3 ปี ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ในประเทศก็ลดลง ความน่าเชื่อถือก็กลับคืนมา ดังนั้นรัฐบาลที่ขาดความเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศก็ควรจะหลีกทางให้ ด้านนายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวภายหลังการประชุมว่า ทางกลุ่มเห็นว่าอันดับแรกควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะแก้ไขมาตรา 256 เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจใช้ระยะเวลานาน ขณะที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 272 หากมีเหตุการณ์ถึงขั้นยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออกแล้วต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ควรให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

นายสุชน กล่าวว่า ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือกัน และรับฟังข้อเรียกร้องของนักศึกษาและทุกฝ่ายว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ควรมีการพูดคุยกัน ไม่ควรเผชิญหน้ากันต้องหาทางร่วมมือให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ซึ่งในฐานะที่เป็นกลุ่มคณะเล็กๆ ก็ทำได้เพียงการเสนอความเห็นไม่สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยจะเสนอความเห็นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะกลุ่มอดีตประธานสภาฯ และส่งความเห็นไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายกรัฐมนตรี ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงเป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะแก้ไขวิกฤตตรงนี้ ยังไม่สายเกินไปหากทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ