"ยุทธพงศ์" ระบุรัฐบาลเอื้อเอกชนขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว-ซื้อเรือดำน้ำไม่เป็นจีทูจี

ข่าวการเมือง Wednesday September 9, 2020 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวในการอภิปรายฯว่า รัฐบาลใช้อำนาจไม่อยู่ในหลักนิติธรรมกรณีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวทิศเหนือและทิศใต้ โดยเอื้อประโยชน์การต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าให้กับเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เสีย รมว.คลังไปถึง 2 คน คือ นายอุตตม สาวนายน ซึ่งก่อนลาออกเคยมีหนังสือถอนความเห็นการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว เนื่องจากไม่เป็นไปตามกฎหมายร่วมทุน กลัวผิดกฎหมาย แต่ปรากฎว่านายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ส่งเรื่องถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อขยายสัญญาร่วมลงทุนอีก 40 ปี จนเมื่อนายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง มาเจอในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ครั้งแรก และกลัวจะผิดกฎหมาย จึงถอนเรื่องนี้ออกมาเช่นกัน เพราะไม่ถูกต้องจึงเป็นที่มาให้นายปรีดีลาออก พร้อมตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรีว่าจะเดินหน้าให้ครม.เห็นชอบเรื่องนี้หรือไม่ และใช้อำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเอื้อนายทุนหรือไม่

คำสั่งดังกล่าว ออกโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 3/2562 วันที่ 11 เมษายน 2562 เป็นการออกคำสั่งให้มีคณะกรรมการฯ โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ไปเจรจากับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นบริษัทเดิมที่ได้รับสัมปทาน และยังเหลือเวลาในสัญญาอีก 10 ปี และเมื่อเจรจาเสร็จก็เข้าสู่เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 ซึ่งมีผลไปก่อนแล้วเมื่อเดือน มี.ค.62 แต่คำสั่งที่ออกมาเป็นการยกเว้นเงื่อนไข และแก้ไขสัญญาที่เหลืออีก 10 ปี ให้เชื่อมกันเป็นสัญญาเดียวกับส่วนต่อขยายไปอีก 40 ปี ซึ่งสภาฯ เคยมีมติไม่ให้ขยายสัมปทาน โดยให้รอจนครบสัญญา 10 ปี แล้วค่อยประมูลใหม่ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำตามกฎหมายร่วมทุน แต่ก็มีความพยายามต่อขยายสัมปทานให้ได้

นายยุทธพงศ์ ยังอภิปรายถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ไม่ได้จัดซื้อตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้เป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เพราะรัฐบาลโดยฝ่ายไทย พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้น ทำสัญญาซื้อขายกับ ประธานบริษัท China Shipbuilding & Offshore International (CSOC) ซึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาล และการโอนเงินไม่ได้โอนไปหาหน่วยงานรัฐหรือกระทรวงการคลังจีน ซึ่งไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากรัฐหรือ Fulls Power ทั้งของฝั่งไทยและจีน และตอนนี้บริษัท CSOC ก็มาเปิดบริษัทที่ไทยแล้ว และมีหลายออฟฟิศในหลายประเทศ จึงอยากถามถึงเหตุผลที่มีการปล่อยปละละเลยให้ไปเซ็นสัญญาทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นแบบรัฐต่อรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ