นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายฯ โดยไม่มีการลงมติว่า สถานการณ์ในขณะนี้เกิดวิกฤตทางการเมืองที่รุนแรงกว่าปี 40 รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ราบรื่นไปได้ มีระบบการศึกษาที่อ่นแอ รัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว ระบบการเมืองที่หาตัวคนมาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ยากเย็น ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจก็มีความรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้มีผู้ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว
"รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ถูกร่างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสังคมไทยและรับมือกับโลกอนาคต แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เฉพาะกิจคือการสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรักษาอำนาจของเครือข่ายให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" นายพิธา กล่าว
เมื่อดูตัวเลขทางเศรษฐกิจที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินไว้พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับท้ายๆ ของเอเซีย ไม่ใช่แค่กลุ่มอาเซียน เช่น ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดลบถึง 23% แย่สุดในกลุ่มอาเซียน ขณะที่เงินบาทแข็งค่าในอันดับต้นๆ ของอาเซียนยิ่งซ้ำเติมผู้ส่งออกที่เป็นรายได้หลัก 70% ของประเทศ และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวทำให้ยอดคนว่างงานเพิ่มขึ้นแล้วถึง 5 เท่าตัวจากเมื่อเดือน ก.พ.63 และในช่วงไตรมาสหน้ายังจะมีปัญหาเรื่องหนี้สินที่จะเข้ามาซ้ำเติมระบบการเงิน โดยมียอดขอปรับโครงสร้างหนี้มีมากถึง 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีโอกาสที่จะเป็นหนี้เสียมากขึ้น
ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลพลาดเป้า 4 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อไปอีกหลายปี ซึ่งหากมีการกู้ก็จะยิ่งเพิ่มภาระการคลังในอนาคต
มาตรการแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น โครงการเราเที่ยวปันสุข มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 17% ของสิทธิ์ทั้งหมด ขณะที่โรงแรมขนาดกลางและเล็กไม่ได้เข้าร่วมโครงการ โครงการซอฟท์โลนช่วยเอสเอ็มอีก็มีเงื่อนไขยุ่งยากทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเพียง 20% เหลือวงเงินอีกกว่า 4 แสนล้านบาท
"เป็นภาวะสุญญากาศของการบริหารเศรษฐกิจไทย กัปตันใส่เกียร์ว่าง ไม่รู้ร้อนรู้หนาวในยามที่พายุโหมกระหน่ำ...ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกฯ สมัยแรก ผมคงวิจารณ์ไปอีกอย่าง" นายพิธา กล่าว
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังรัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาแล้วน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย หรือเกิดการลงทุนเพิ่มเติม แต่ผลลัพธ์กลับออกมาตรงกันข้าม ซ้ำร้ายยังเกิดการคอร์รัปชันในหน่วยงานราชการกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศโดยไม่มีฝ่ายค้านเกือบ 5 ปี และใช้งบประมาณราว 20 ล้านล้านบาท แต่ผลงานด้านเศรษฐกิจออกมาเกือบรั้งท้ายสุดในเอเซีย ขณะที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังมีความล้าหลังเพื่อให้ประชาชนเชื่อฟังรัฐ ไม่มีการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
"ช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเป็นการพิสูจน์แล้วว่าเราได้ผู้นำที่ไม่มีภาวะผู้นำ ไม่มีความสามารถ ไร้วิสัยทัศน์ ดูถูกประชาชน เล่นพรรคเล่นพวก...ใจกลางความล้มเหลวอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายพิธา กล่าว