ปัจจัยที่มีผลกระทบทำให้ราคายางแต่ละชนิดมีความเคลื่อนไหวผันผวน เกิดจากการนำน้ำยางข้นไปใช้ผลิตถุงมือยางมากขึ้น ปริมาณยางแผ่นดิบในตลาดลดลง และปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ทำให้การทำยางแผ่นลดลง ไม่เพียงพอกับความต้องการ ที่ประชุมจึงได้มีข้อสรุปร่วมกันในการกำหนดมาตรการเพื่อพยุงราคายางในประเทศ คือ
1.ตรวจสอบสต็อกยางที่กำหนดให้ผู้ค้าต้องแจ้งปริมาณตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เพื่อจัดทีมงานตรวจสอบปริมาณยางคงเหลือในสต็อกของผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยจะตรวจสต็อกของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของภาครัฐด้วย ซึ่งจะเริ่มปูพรมตรวจสอบทั่วประเทศภายในสิ้นก.ย.63
2. ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งรัดโครงการโค่นยางและปลูกพืชทดแทน โดยให้หามาตรการจูงใจเพิ่มให้เกษตรกรที่หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทนยาง เพื่อลดพื้นที่ปลูกยางให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว
3. ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พิจารณาปรับปรุงเงื่อนไข รูปแบบการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ภาครัฐให้การสนับสนุนแก่สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ในวงเงิน 65,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการซื้อขายยางในระบบ ให้การดูดซับปริมาณยางมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4. กระทรวงพาณิชย์จะขยายตลาดส่งออก โดยกำหนดเจรจาธุรกิจทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อซื้อขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ ในวันที่ 30 ก.ย.63 และ 1 ต.ค.63 และในช่วงต้นเดือนธ.ค.63 กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด Thailand Rubber Expo " เพื่อกระตุ้นการซื้อขายยาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ และสินค้านวัตกรรม ที่สามารถนำไปมอบเป็นของขวัญ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2564 ได้ โดยเป็นการจัดงานวิถีใหม่ ที่มีการจัดนิทรรศการ การแสดงสินค้า และการเจรจาธุรกิจซื้อขาย ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ หากพบว่า มีการกดราคา หรือมีพฤติกรรมเป็นการเอาเปรียบทางการค้า ซึ่งกรมการค้าภายในจะประสานสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569